การกักโรค” ปกติเราใช้กับสัตว์ต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่า สัตว์นั้นเป็นพาหะนำโรคมาแพร่สู่คนหรือสัตว์ตัวอื่นๆ ที่ปกติหรือไม่ สำหรับปลาแฟนซีคาร์พก็เช่นกัน ก่อนที่เราจะนำปลาที่ซื้อมาแล้วปล่อยสู่บ่อเลี้ยง นอกจากเราจะต้องรู้จักวิธีการเลือกซื้อปลาที่ถูกต้อง โดยไม่มีอาการหรือส่อให้เห็นว่ามีอาการป่วยมาก่อนแล้ว เราจำเป็นต้องทำการ “กักโรค” ปลาใหม่ก่อนปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยง หรือกรณีที่มีปลาป่วยภายในบ่อ เราก็จำเป็นต้องแยกปลาป่วยออกมาเพื่อมิให้โรคกระจายแพร่ไปยังปลาปกติตัวอื่นๆ
การกักโรคนั้นเป็นวิธีง่ายๆ ในการป้องกันมิให้โรคแพร่กระจายไปยังปลาตัวอื่นๆ ที่ปกติ แม้ว่าจะไม่สามารถรับรองผลได้ 100% แต่ก็ช่วยสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 80-90% นอกจากนี้การกักโรคยังเป็นการลดโอกาสการตายของปลาให้น้อยลง ให้ปลาได้มีโอกาสปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้เร็วขึ้น ซึ่งโดยหลักๆ ปลาใหม่มักจะตายจาก 3 สาเหตุใหญ่ๆ คือ ช็อคเพราะอุณหภูมิ ช็อคเพราะพีเอช หรือ ค่าความเป็นกรด ด่าง และตายจากการติดโรค (กรณีกระโดดออกมาตาย มักจะมีสาเหตุอื่นสนับสนุน) เรามีวิธีง่ายๆ ในการกักโรคปลาดังนี้
1. การเตรียมภาชนะหรือถังกักโรค ควรใช้ถังที่มีขนาดไม่เล็กเกินไป โดยให้มีปริมาตรน้ำในถังอย่างน้อย 200 เท่าของน้ำหนักตัว มีขนาดความกว้าง ยาวและลึกของถังกักโรคเพียงพอต่อการว่ายน้ำไปมาของปลาในทิศทางแนวดิ่งและแนวนอน
2. มีระบบกรองภายในถังกักโรคที่สามารถจะให้น้ำภายในถังได้เกิดการหมุนเวียน บางครั้งอาจใช้ซีโอไลท์ใส่ถุงใส่ไว้ในบ่อกรอง เพื่อให้ดูดแอมโมเนียที่เกิดขึ้นจากการขับถ่ายและการหายใจ แต่หากคุณต้องใช้เกลือทะเลละลายในน้ำด้วย ก็ไม่ควรใช้ซีโอไลท์ เพราะสารละลายเกลือจะทำให้ซีโอไลท์คายแอมโมเนียที่ดูดเอาไว้ออกมา ทำให้การใช้ซีโอไลท์ไม่ได้ผล
3. กรณีที่ไม่ได้มีการติดตั้งระบบกรองภายในถัง จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ประมาณ 30-50% ทุกวัน เพื่อลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อลดปริมาณเชื้อโรค หรือปรสิตต่างๆ ที่อยู่ในน้ำกรณีปลาป่วย
4. เมื่อคุณได้ปลาตัวใหม่มาแล้วให้นำปลาทั้งถุงมาแช่ในภาชนะหรืออ่างกักโรคก่อน ประมาณ 30 นาที อย่าพึ่งปล่อยปลา เพื่อปรับอุณหภูมิภายในถุงและภายในอ่างกักโรคให้ใกล้เคียงกัน (หากอุณหภูมิต่างกันเกินกว่า 5 องศาเซลเซียส ปลาอาจเกิดอาการช็อคได้) จากนั้นเปิดปากถุงให้ตักน้ำใหม่จากอ่างกักโรคมาผสมใส่ในถุงประมาณ 30% ของปริมาตรน้ำในถุง ทิ้งไว้ 15 นาที เพื่อป้องกันมิให้ปลาใหม่เกิดอาการช็อคพีเอชของน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปลาใหม่เคยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีปริมาณปลาอย่างหนาแน่น พีเอชของน้ำในบ่อเก่า อาจแตกต่างจากบ่อใหม่หรืออ่างกักโรคมาก จากนั้นใช้มือหรือกระชอนที่มีเนื้อผ้าแบบอ่อนนุ่มไม่หยาบกระด้างจับปลามาปล่อยลงในอ่างกักโรค และ ห้ามเทน้ำเก่าที่อยู่ในถุงลงในบ่อหรืออ่างกักโรคเป็นอันขาด เนื่องจากน้ำที่อยู่ในถุงที่แช่ปลามานั้น มักจะมีแอมโมเนียที่เกิดจากการขับถ่าย และการหายใจของปลาปริมาณมาก
5. จัดหาหัวทรายให้ออกซิเจนให้มีปริมาณเพียงพอกับจำนวนปลา และจัดหาแผ่นโฟมสีขาวมาลอยไว้เหนือน้ำ เพื่อป้องกันปลากระโดด หรืออาจใช้วัสดุหรือตาข่ายปิดอ่างกักโรคเพื่อป้องกันปลากระโดดออกจากอ่าง
6. เติมเกลือทะเลที่ไม่ผสมไอโอดีน (หาซื้อได้จากบริเวณเส้นทางที่เดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดชายทะเลใกล้เคียง ใส่เป็นถุงๆ จำหน่าย) ให้น้ำภายในอ่างกักโรคมีความเข้มข้น 0.1 – 0.3% ยกตัวอย่างเช่น ปริมาตรน้ำ 100 ลิตร ใช้เกลือทะเลน้ำหนัก 100 – 300 กรัม ซึ่ง ณ ความเข้มข้นระดับนี้จะทำให้ปรสิตส่วนใหญ่ไม่สามารถอยู่ได้
7. สำหรับปลาใหม่ที่เราเพิ่งซื้อมาส่วนใหญ่ มักจะไม่กินอาหารในช่วง 3 วันแรก พอวันที่ 4 เราสามารถจะเริ่มให้อาหารสำเร็จรูปแก่ปลาได้ อย่างไรก็ตามหากอ่างกักโรค ไม่มีระบบกรอง ก็จำเป็นจะต้องระมัดระวังในเรื่องระดับแอมโมเนีย และไนไตรท์ที่จะเป็นอันตรายต่อปลา เราสามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำบางส่วนทุกวัน แต่กรณีที่มีถังกรองภายนอกที่ติดตั้งอยู่ จำเป็นต้องทำความสะอาดถังกรอง โดยการซักล้างใยแก้ว ส่วนการถ่ายน้ำก็ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่อาจเลื่อนระยะเวลาออกไปเป็นทุกๆ 3 วัน
8. ระยะเวลาการกักโรคที่เหมาะสมควรกินเวลานานประมาณอย่างน้อย 10 วัน
9. ทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำ ให้มีการเติมเกลือทะเลเพิ่มลงในอ่างกักโรคให้มีความเข้มข้นของเกลืออยู่ในระดับเดิมคือ 0.1 – 0.3%
10. น้ำที่ใช้ในการกักโรค ควรกักไว้ก่อนนำมาใช้ประมาณ 2 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปให้หมดก่อน
11. กรณีระหว่างการกักโรคปรากฎว่า ปลาใหม่เกิดอาการป่วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เราก็สามารถใช้ยาปฏิชีวนะแช่รักษาปลาได้ทันที และควรแช่ให้มีระยะเวลานานพอเพียงที่จะรักษาปลาให้หายป่วยจริงๆ ประมาณ 7-10 วัน จนกว่าปลาจะหาย