การผสมเทียมปลาบู่ทราย
( หนังสือคู่มือการผสมเทียมพันธุ์ปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดย มานพ ตั้งตรงไพโรจน์ และคณะ
สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ กรมประมง 2527 )

 


ปลาบู่ทราย ( Oxyeleotris marmoratus Bleeker ) ชื่อสามัญ Sand goby เป็นปลาน้ำจืดที่มีแหล่งอาศัยอยู่ทั่วไป ในเกาะสุมาตรา บอร์เนียว และประเทศไทย มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแต่ละประเทศ เช่น สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เรียกว่า Bakatut , Bakut ประเทศเขมรเรียกว่า Trey damrey ประเทศไทยเรียกว่า ปลาบู่ ปลาบู่ทราย ( Pla bu , Pla bu sai )
ในประเทศไทย พบปลาบู่ทรายอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วทุกภาค นอกจากนี้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดเล็ก พบว่าปลาบู่ทรายมีการเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วแทบทุกแห่ง เช่น ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี เป็นต้น จากการวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำจากแหล่งที่มีปลาบู่อาศัยอยู่ สรุปได้ว่าปลาบู่สามารถอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนตั้งแต่ 3 ส่วนในล้านส่วน ( ppm. ) ขึ้นไป ค่าความเป็นด่าง ( Alkalinity ) ระหว่าง 35-221 ส่วนในล้านส่วน ความกระด้าง ( Hardness ) 23-164 ส่วนในล้านส่วน ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง 6.3-8.6 ที่บึงบอระเพ็ด พบว่าบริเวณที่ทำการรวบรวมปลาบู่มีปริมาณออกซิเจนประมาณ 6.0-7.0 ส่วนในล้าน ความเป็นด่างระหว่าง 70-80 ส่วนในล้านส่วน ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง 6.5-7.2 อุณหภูมิของน้ำ 24-30 องศาเซลเซียส ความลึกของน้ำประมาณ 3.0-4.0 ม. พื้นดินเป็นโคลนตม

นิสัยการกินอาหาร
ปลาบู่ทรายเป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น ลูกปลา กุ้ง แมลงในน้ำ หอยและปู เป็นต้น จากการวิเคราะห์นิสัยการกินอาหารของปลาบู่ พบว่าปลาบู่ขนาด 1.0-10.0 ซม. อาหารที่พบเป็นกุ้งร้อยละ 75 ปลาร้อยละ 25 ปลาบู่ขนาด 10.0-20.0 ซม. อาหารที่พบเป็นกุ้งร้อยละ 58 ปลาร้อยละ 40 ปูร้อยละ 2 ปลาบู่ขนาดตั้งแต่ 20 ซม.ขึ้นไป อาหารที่พบเป็นปลาร้อยละ 72 กุ้งร้อยละ 28
การเลี้ยงปลาบู่นับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทำให้พันธุ์ปลาบู่ที่รวบรวมจากธรรมชาติไม่เพียงพอ วิธีที่จะเพิ่มปริมาณลูกปลาให้มีเพียงพอ อาจจะทำได้โดยวิธีการผสมเทียม อย่างไรก็ตามวิธีการผสมเทียมจะสัมฤทธิ์ผลได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง และมีวิธีการอนุบาลลูกปลาที่ถูกต้อง

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ทราย
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ทรายนั้นก็เหมือนกับการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลา ชนิดอื่นๆ กล่าวคือ จะต้องมีการจัดการที่ดี และควรได้คำนึงถึงปัจจัยหลายๆปัจจัยประกอบกัน ได้แก่
–  ลักษณะของบ่อเลี้ยง พ่อแม่พันธุ์ปลาที่ได้จากการรวบรวมนั้นสามารถปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดินขนาด ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป บ่อลึกประมาณ 1-1.5 เมตร ลักษณะของบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลา ถ้าสร้างให้ได้ขนาดต่างๆกัน เรียงเป็นแถว จะทำให้การจัดระบบส่งน้ำและระบายน้ำทิ้งสะดวกและง่ายกว่า
– อัตราการปล่อย พ่อแม่พันธุ์ปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อนั้นใช้ในอัตรา 1-2 ตรม.ต่อปลา 1 ตัว โดยที่ขนาดของปลา ความยาว 21.0-30.5 ซม. น้ำหนัก 158-440 ก. เป็นปลาขนาดที่สามารถใช้เพาะพันธุ์ได้แล้ว
– อาหาร อาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาใช้ได้ทั้งอาหารธรรมชาติ และอาหารสมทบ ซึ่งควรใช้อาหารที่ถูกกับนิสัยการกินอาหารของปลาชนิดนี้ และควรให้พอดีกับความต้องการของปลา ปลาที่ได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือมีคุณภาพต่ำ จะมีผลกระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ และความดกของไข่ นอกจากนี้จะยืดเวลาการแก่ของไข่และน้ำเชื้อ เช่น ปลาเพศเมียที่ขาดวิตามินเอ และแคโรทีนอยด์ ( Carotenoid ) จะมีไข่น้อยและอัตราการตายของลูกปลาวัยอ่อนสูง ดังนั้น จึงควรให้อาหารสมทบในปริมาณร้อยละ 2-3 ของน้ำหนักตัวปลาโดยให้วันละครั้ง ลักษณะอาหารควรเป็นอาหารที่นิยมใช้ได้แก่ ปลาเป็ดสับหรือปลาบด อาจเติมหัวอาหารและเกลือ ( ประมาณ 100ก./อาหาร 3 กก.) ผสมลงไปในอาหาร เกลือจะช่วยให้อาหารจับเหนียวแน่นขึ้น ป้องกันการละลายหรือการลอยตัวของอาหารและป้องกันไม่ให้น้ำเสียอีกด้วย
– น้ำและระดับน้ำ ควรเป็นน้ำที่สะอาด สีเขียวเล็กน้อย มีออกซิเจน การถ่ายเทน้ำบ่อยๆ หรือสูบเพิ่มเติมในบ่อบ่อยๆ ประมาณเดือนละ 3-4 ครั้ง จะมีผลกระตุ้นให้อวัยวะสืบพันธุ์เจริญเติบโต และแม่ปลาสามารถสร้างไข่ได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งโดยทั่วไปปลาบู่ทรายเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป
– ลักษณะการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ทราย ควรเลี้ยงแยกเพศผู้ไว้บ่อหนึ่ง เพศเมียไว้บ่อหนึ่ง ซึ่งให้ประโยชน์หลายอย่างคือ
1. เป็นการป้องกันและควบคุมมิให้เกิดลูกในบ่อ เพราะทำให้อัตรารอดตายลูกปลาต่ำ เนื่องจากปลาใหญ่ในบ่อจะกินลูกปลา
2. ดูแลขุนอาหารได้ง่าย ประมาณช่วงระยะเวลาได้ถูกต้องว่าเราควรเริ่มขุนอาหารเมื่อไร เพื่อให้ปลาตั้งท้องพอเหมาะกับช่วงเวลาที่เราต้องการจะนำมาทำแม่พันธุ์
3. เวลาตีอวนเพื่อนำพันธุ์ปลาไปเพาะแม่ปลาจะไม่ช้ำมาก เพราะเรารู้แล้วว่าทุกตัวคือเพศเมีย หากเลี้ยงรวมกันเวลาคัดแม่พันธุ์ต้องคอยแยกเพศผู้เพศเมีย แม่ปลาจะช้ำ

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ทราย
ปลาบู่ทรายเพศผู้และเพศเมีย มีลักษณะภายนอกไม่แตกต่างกันชัดเจน แต่แตกต่างระหว่างเพศดูได้จากอวัยวะเพศ ซึ่งอยู่ถัดจากช่องขับถ่ายไปทางส่วนหัว
– ปลาเพศผู้ มีอวัยวะเพศลักษณะเป็นแผ่นของติ่งเนื้อขนาดเล็กปลายเรียวแหลม และมีรู ซึ่งเป็นทางออกของน้ำเชื้อ
– ปลาเพศเมีย อวัยวะ เพศลักษณะเป็นแผ่นเนื้อกลมรีขยายกว้างออกและขนาดใหญ่กว่าของเพศผู้ ตอนปลายของอวัยวะเพศไม่แหลมแต่เป็นรูขนาดใหญ่ซึ่งเป็นทางออกของไข่
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาต้องหาดูตัวที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ โดยดูจากอวัยวะเพศของทั้งสองเพศ จะมีสีแดงเรื่อๆหรือสีชมพู ซึ่งสามารถคัดเลือกได้ดังนี้
– ปลาเพศผู้ส่วนท้องจะเล็กกว่าตัวเมีย รูเปิดของน้ำเชื้อจะมีติ่งยื่นยาวออกมา ส่วนปลายจะแหลมและมีสีแดงเรื่อๆ หรือสีชมพู ถ้าเอามือรีดส่วนท้องเบาๆจะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมา
– ปลาเพศเมีย ส่วนท้องจะเป่งนิ่ม ตรงช่องเปิดของไข่จะขยายกว้างยื่นออกมา และตรงปลายมีสีแดง สีแดงเรื่อหรือชมพูอ่อนการเพาะพันธุ์ปลาบู่ทรายโดยวิธีการฉีดผสมเทียม

การฉีดฮอร์โมน
การเตรียมฮอร์โมนเพื่อนำไปฉีดให้ปลา ทำได้โดยนำต่อมใต้สมองมาบดในหลอดบดให้ละเอียดเติมน้ำกลั่น แล้วบดซ้ำอีกจนได้เป็นสารละลาย อาจจะเติมฮอร์โมนสกัดผสมลงไปด้วยหรืออาจไม่เติมก็ได้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ ทางเพศของแม่ปลา จากนั้นใช้เข็มฉีดยาดูดในปริมาณที่เราต้องการ เพื่อนำไปฉีดให้พ่อแม่ปลา ซึ่งได้จากการคัดเลือก แล้วนำไปฟักไว้ในบ่อซีเมนต์หรือกระชังอวนไนล่อน
ปริมาณฮอร์โมนที่ใช้สำหรับปลาบู่ทรายที่ใช้กันได้ผลในปัจจุบันจะฉีด 2 ครั้ง สำหรับแม่ปลา ส่วนปลาตัวผู้จะฉีด 1 ครั้ง โดยฉีดพร้อมกับที่ฉีดปลาตัวเมียเข็มที่ 2 ดังนี้
แม่ปลาครั้งที่ 1 ใช้ประมาณ 0.5-1.0 (โดส ) + ฮอร์โมนสกัด 25-75 ไอ.ยู.
แม่ปลาครั้งที่ 2 ใช้ประมาณ 1.5-2.0 (โดส ) + ฮอร์โมนสกัด 100-150 ไอ.ยู.
ปลาเพศผู้ฉีดครั้งเดียวในปริมาณ 0.5-1 โดส

ตำแหน่งที่ฉีดและช่วงเวลาในการฉีด
สำหรับตำแหน่งที่เหมาะสมมี 2 ตำแหน่ง คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณใต้ครีบหลังเหนือเส้นข้างตัวปลา แทงเข็มใต้เกล็ดทะแยงเล็กน้อยอย่าให้ลึกนักและบริเวณปลายสุดของครีบหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีเกล็ด สำหรับช่วงเวลาการฉีดครั้งแรกและครั้งที่สองใช้เวลาห่างกัน 6 ชม.
หลังจากฉีดสารละลายฮอร์โมนครั้งที่ 2 ให้กับแม่ปลาและฉีดให้กับพ่อปลาอย่างละ 1 เข็ม แล้วก็นำพ่อแม่ปลาไปปล่อยในบ่อคอนกรีตขนาดตั้งแต่ 6 ตารางเมตรขึ้นไป ในอัตราส่วน ตัวผู้ : ตัวเมีย = 1:1 และเนื่องจากปลาบู่ทรายเป็นปลาที่ไข่ติด ดังนั้นในบ่อควรมีทางมะพร้าว โดยเอาทางโคนกาบใหญ่วางไว้ใกล้พื้นตรงมุมบ่อมุมละอัน เป็นมุมประมาณ 60 องศา หลังจากใช้กระเบื้องแผ่นเรียบพิงไว้ตามมุมบ่อทั้ง 4 มุม เพื่อให้เป็นที่เกาะติดของไข่ปลา ต่อมาประมาณ 3-7 วัน ปลาบู่จะวางไข่เองโดยวางไข่ติดกันเป็นพืดแผ่กระจายไปตามแนวตั้งของทาง มะพร้าวหรือกระเบื้องแผ่นเรียบที่แช่อยู่ในบ่อ

การฟักไข่
ไข่ของปลาบู่ทรายเป็นไข่ติด เม็ดไข่มีน้ำมากจนมองคล้ายหยดน้ำมัน โดยเฉพาะไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้แล้วจะมีความวาวใสยิ่งขึ้น ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะมีสีขาวทึบ
การฟักไข่ปลาบู่ทราย กระทำได้ดังนี้

การฟักไข่ปลาบู่ทรายในบ่อซีเมนต์และในตู้กระจก
ทำการรวบรวมไข่ที่ได้จากการเพาะมาเพาะฟักในบ่อซีเมนต์ที่ใส่น้ำเกือบเต็ม มีเครื่องปั๊มให้ฟองอากาศตลอดเวลา ควรมีฝาไม้ปิดป้องกันแสงแดด ถ้าบ่อไม่มีหลังคา การถ่ายเทน้ำทำโดยใช้สายยางดูดน้ำจากกระชอนผ้า เพื่อกันลูกปลาไม่ให้ติดออกมา สำหรับการฟักในตู้กระจกก็ทำวิธีเดียวกัน
ไข่ปลาบู่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้ว จะฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 23 ถึง 38 ซม. ที่อุณหภูมิ 27-31 องศาเซลเซียส ลูกปลาบู่ที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆมีความยาวประมาณ 3 มม. มีถุงอาหารยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว ลูกปลาจะนอนอยู่ก้นบ่อหรือว่ายน้ำได้ โดยเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเป็นจังหวะๆ โดยการตะแคงตัวลูกปลาอายุ 1-2 วัน เจริญเติบโตโดยใช้อาหารจากถุงอาหาร จนกระทั่งหมดภายใน 2 วัน ลูกปลาจะเริ่มกินอาหาร

การอนุบาล
1. อนุบาลในกระชังผ้าไนล่อนแก้ว ซึ่งแขวนลอยในบ่อซีเมนต์น้ำไหลผ่านตลอดเวลา โดยใช้กระชังผ้าไนล่อนแก้วขนาด 2 ตารางเมตร ลึก 0.5 เมตร แขวนลอยในบ่อซีเมนต์ขนาด 6 ตารางเมตร อนุบาลลูกปลาจนมีอายุประมาณ 24 วัน จึงย้ายไปเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งเตรียมบ่อโดยการใส่ปุ๋ยล่วงหน้าประมาณ 10 วัน
2. การอนุบาลลูกปลาบู่ในบ่อดิน เตรียมบ่อขนาด 400 ตรม. ภายในบ่อปลูกผักบุ้งบริเวณขอบบ่อโดยตลอด ใส่ปุ๋ยคอกในบ่อล่วงหน้าให้เกิดน้ำเขียว เพื่อเป็นอาหารลูกปลาในตอนแรก ลูกปลาที่ปล่อยในบ่อดินควรมีอายุประมาณ 5 วัน หลังจากฟักเป็นตัวในอัตรา 20-25 ตัวต่อตารางเมตร

อาหารลูกปลาบู่ทรายวัยอ่อน
ขณะที่อนุบาลในกระชังไนล่อนแก้ว การให้อาหารแก่ลูกปลาบู่ทรายจะเริ่มให้ในวันที่ 3 หลังจากฟักเป็นตัวเมื่อถุงอาหารยุบหมด โดยให้ไข่แดงบดผสมนมผง ซึ่งกรองผ่านผ้าไนล่อนแก้ว เติมด้วยน้ำเขียวที่มีแพลงค์ตอนพืชนาดเล็กเป็นอาหารให้วันละ 3 ครั้ง คือ ตอนเช้า ตอนเย็นและกลางคืน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ระยะเวลาการให้อาหารต่างกันมาก ซึ่งจะให้ลูกปลามีอาหารกินเพียงพอ เมื่อครบ 10 วัน จึงเริ่มให้ไรน้ำขนาดเล็ก สำหรับอาหารลูกปลาที่อนุบาลในบ่อดิน ให้อาหารจำพวกไข่แดงผสมนมผง จนลูกปลาอายุประมาณ 10-15 วัน จึงให้ไรแดงขนาดเล็กและปลาสดบด จนกว่าลูกปลาโตพอที่จะกินอาหารปลาสดบดได้