ฐิติพร หลาวประเสริฐ สมเกียรติ์ กาญจนาคาร
สุปราณี ชินบุตร
สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ

ผลการตรวจวินิจฉัยโรคในปลาออสการ์ (Astronotus ocellatus) ที่มีอาการผิดปกติ คือ ว่ายน้ำเซื่องซึม ไม่กินอาหาร ผอม สีผิวเข้มขึ้น บางตัวมีแผล รวมตัวกันที่พื้นบ่อ และตายในระยะเวลาอันสั้น อัตราการตายสูงถึง 80-100 เปอร์เซนต์ พบปรสิตสกุลเห็บระฆัง และปลิงใส บริเวณเหงือกและผิวหนัง การใช้ฟอร์มาลีน ในอัตราความเข้มข้น 40-45 ppm สามารถควบคุมปรสิตดังกล่าวได้ แต่อัตราการตายของปลายังไม่ลดลง ไม่พบการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสผลการศึกษาทางพยาธิสภาพ พบการตายของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ เช่น เหงือก ไต และกล้ามเนื้อ และพบเซลล์ที่มีลักษณะคล้ายอะมีบาในบริเวณดังกล่าว จึงทำการศึกษาต่อโดยทำการแยกอะมีบา และเลี้ยงให้เป็นเซลล์บริสุทธิ์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาชนิดโดยดูจากลักษณะรูปร่าง ของระยะตัวอ่อน (tropozoite) ซึ่งพบว่ามีขาเทียมเป็นรูปหนามหรือเข็ม (spiny-iked pseudopod) และระยะที่สร้างผนังเซลล์หุ้มหรือเข้าเกราะ (cyst) ที่มีรูปร่างเป็นหลายเหลี่ยม ทำการยืนยันชนิดของอะมีบาโดยใช้เทคนิคปฎิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (Polymerase Chain Reaction) โดยมีตัวจับ (primer) ที่มีความจำเพาะเจาะจงกับสกุลของอะมีบา พบว่าอะมีบาที่แยกได้จากปลาป่วยในครั้งนี้ จัดอยู่ในสกุล Acanthamoeba