ถิ่นที่อยู่อาศัย มีชุกชุมบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในแม่น้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีพบที่แม่น้ำน่าน และแม่น้ำโขง ส่วนในต่างประเทศพบที่ กัมพูชา สุมาตรา พม่า บอร์เนียว มเลเซีย และอินโดนีเซีย
รูปร่างลักษณะ เป็นปลาที่มีรูปร่างค่อนข้างแปลก หัวแหลมท้ายกว้าง ลำตัวค่อนข้างลึกแบนข้าง ลำตัวสีครีมหรือสีน้ำตาลอ่อน จุดเด่นคือมีลายดำพลาดขวางลำตัว 6 ลาย จงอยปากยื่นยาว ปากกว้าง ดวงตากลมมีขนาดใหญ่ ครีบหลังมีหนามแหลมแข็งแรง ครีบหางกลมแบบพัด ในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจพบ มีความยาวประมาณ 40 ซม. สำหรับปลาเพศผู้หรือเมียค่อนข้างดูยาก
อุปนิสัย ตามธรรมชาติปลาเสือตอชอบหากินอยู่ในระดับน้ำลึกประมาณ 2 – 3 เมตร ไม่ชอบที่ซึ่งมีพันธุ์ไม้น้ำขึ้นหนาแน่น แต่ชอบอยู่ในที่ซึ่งมีเสาหลักต่อไม้ใต้น้ำ คอยจ้องจับเหยื่อโดยแฝงตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ ซึ่งการชอบอาศัยอยู่ที่ตอไม้นี่เองจึงถูกเรียกว่าปลาเสือตอ ปลาเสือตอตัวใหญ่ ๆ อาจมีน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม และมีไข่เป็นจำนวนมากหลายแสนฟอง ถ้าเลี้ยงให้สมบูรณ์ดีอาจจับคู่วางไข่ในบ่อหรือในตู้กระจกได้ แต่ปัจจุบันนี้นิยมใช้วิธีผสมเทียมมากกว่า ปลาเสือตอเดิมเป็นปลาแม่น้ำที่จับขึ้นมาเพื่อบริโภคเพราะเป็นปลาเนื้อดีรสอร่อยและมีราคาแพง เช่นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งปลาเสือต่อขึ้นชื่อมาก ปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงเป็นสวยงาม และค่อนข้างหายากขึ้น
การเลี้ยงดู ปลาเสือตอถ้านำมาเลี้ยงในบ่อหรือในตู้กระจกควรใช้ท่อนไม้ รากไม้น้ำแทนพืชน้ำ เพราะมันชอบอย่างนั้น แต่ก็สามารถใช้พืชน้ำได้ถ้าจำเป็น ปลาเสือตอจะพยายามสร้างที่หลบมุมด้วยเศษไม้บริเวณมุมตู้ ไม่ค่อยชอบออกมาโชว์ตัวให้เห็นบ่อยนัก นอกจากเวลาต้องการอาหาร อาหารที่ใช้เลี้ยงได้แก่ลูกกุ้ง ลูกปลา ตัวแมลง และถ้าฝึกให้ดีในตู้กระจกอาจให้เนื้อปลา เนื้อกุ้งก็ได้ไม่ควรปล่อยปลาเสือตอรวมกับปลาอื่น นอกจากปลาเสือตอด้วยกัน