ชลอ ลิ้มสุวรรณ
การเลี้ยงกุ้งยุคโลกาภิวัตน์ขณะนี้ มีปัญหาทั้งโรคหัวเหลือง และโรคดวงขาว(ตัวแดงดวงขาว)อย่างรุนแรง ในหลายพื้นที่ ในช่วงปลายปีที่แล้วถึงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะทางจังหวัดจันทบุรี และตราด รวมทั้งบางพื้นที่ที่จังหวัดตรัง สงขลา และสุราษฎร์ธานี แม้ว่าการเลี้ยงกุ้งในขณะนี้ใช้ระบบปิดหรือกึ่งปิด ไม่มีการถ่ายเปลี่ยนน้ำมากเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังประสบปัญหาโรคดังกล่าวได้เหมือนกัน พูดง่ายๆก็คือ หัวเหลืองยังแก้ไม่ตก เจอดวงขาวเพิ่มขึ้นมาอีก ทำเอาผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำเครียดไปตามๆกัน เพราะการรักษาโรคทั้งสองชนิดที่กล่าวมาแล้วนั้นไม่ได้ผลเลย เนื่องจากสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้นการป้องกันจึงดูเหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่ผู้เลี้ยงกุ้งกำลังพยายามทำกันอย่างเต็มที่ เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของโรคในขณะนี้ลดลงไปมาก จากช่วงต้นปี
เนื่องจากผู้เลี้ยงเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นในการวาง แผนการเลี้ยงในระบบปิด ซึ่งมีการจัดการแตกต่างกับการเลี้ยงในระบบเปิดมาก จากการสังเกตผลการเลี้ยงรุ่นที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากทะเล หรือน้ำมีความเค็มต่ำไม่เกิน 15 พีพีที ความเสียหายจะน้อยกว่าบริเวณที่มีความเค็มสูงหรือบริเวณที่ใช้น้ำทะเลโดยตรง จากการเก็บข้อมูลรุ่นการเลี้ยงที่ได้รับความเสียหายมากทางภาคตะวันออก คือในช่วงปลายปีต่อต้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิค่อนข้างต่ำมากในช่วงกลางคืนและตอนเช้า แต่ตอนกลางวันร้อนจัด พบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากโรคดวงขาวมาก ก่อนที่จะมีโรคดวงขาวเกิดขึ้น มีลักษณะที่พอสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ่อ ดังนี้คือ
1) ส่วนมากมีแพลงก์ตอนพวก ไดโนแฟลกเจลเลต (ขี้ปลาวาฬ) บลูมก่อน หลังจากนั้นไม่นานก็จะมีโรคดวงขาวตามมา
2) น้ำในบ่อที่เกิดโรคดวงขาว มักจะมีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) แตกต่างกันมากในรอบวัน ระหว่างตอนเช้ากับตอนบ่าย พูดง่าย ๆก็คือ ควบคุมพืชเอชให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่ได้
3) บ่อที่เกิดโรคดวงขาว น้ำจะมีสีเข้มจัด เนื่องจากหลายสาเหตุ คือ กุ้งแน่นเกินไปอาหารก็ต้องให้มากตามไปด้วย ถ่ายน้ำ และเติมน้ำไม่ได้ เพราะถ่ายมากก็ตายเร็วขึ้น เนื่องจากมีเชื้อในน้ำมาก
สำหรับบ่อที่เกิดโรคดวงขาว ส่วนมากกุ้งจะมีอายุช่วง 40 – 75 วัน กุ้งที่มีอายุมากกว่า 3 เดือนไปแล้วมีปัญหาน้อยมาก บ่อที่ไม่มีปัญหาส่วนมากกุ้งจะติดบาง ควบคุมสีน้ำได้ พีเอชและสีน้ำนิ่งจึงไม่จำเป็นต้องเติมน้ำหรือถ่ายน้ำมาก
ในระบบการป้องกันโรคดวงขาวที่ได้ผล ในแหล่งเลี้ยงที่ปัญหาโรคนี้อย่างรุนแรงในภาคตะวันออก และพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย ควรจะมีการเลี้ยงระบบปิดให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะไม่มีการเปลี่ยนน้ำเลย หรือเติมน้ำในช่วงท้าย ๆ แต่ทางฝั่งทะเลอันดามันควรใช้ระบบปิดเพียง 30-60 วัน ก็พอ หลังจากนั้นค่อยใช้ระบบเปิด วิธีนี้สามารถปล่อยกุ้งได้มากกว่าระบบปิด
ข้อจำกัดและการจัดการในการเลี้ยงกุ้งระบบปิด
1. บ่อที่กักน้ำได้โดยมีการรั่วซึมน้อย พื้นบ่อต้องแข็งง่ายต่อการรวมเลน พื้นบ่อที่เป็นดินอ่อนนุ่ม ดินทราย มีการรั่วซึมมาก ไม่เหมาะที่จะใช้ระบบปิด
2. การเลี้ยงกุ้งระบบปิด ไม่มีการเพิ่มน้ำและถ่ายน้ำเลยดังนั้นน้ำไม่ควรเค็มจัด ความเค็มที่เหมาะสมในช่วงฤดูแล้งไม่ควรเกิน 15 พีพีที. เพราะว่ายิ่งปิดนานความเค็มจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้การควบคุมสีน้ำจะ ยุ่งยาก น้ำจะเข้มเร็วกว่าในช่วงหน้าฝน (ถ้าความเค็มสูงกว่านี้ควรจะต้องมีน้ำจืดเติมเป็นระยะ) แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนความเค็มสูงกว่า 25 พีพีที. ก็ไม่มีปัญหา
3. อัตราความหนาแน่นของกุ้งไม่ควรจะเกินไร่ละ 60,000 ตัว หรือเมื่อจับกุ้งจะมีผลผลิตประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ขนาดกุ้ง 30-32 ตัวต่อกิโลกรัม ถ้ากุ้งมีอัตรารอดสูงอาจจะมาจากปริมาณกุ้งแถมมาก ก็อาจจะเกิดปัญหากุ้งไม่โต หลังจากน้ำหนักกุ้งรวมในบ่อ 800-900 กิโลกรัม/ไร่ แม้ว่ากุ้งยังมีขนาดเล็กเช่นขนาด 50 ตัว/กิโลกรัม ในที่สุดก็ต้องจับก่อนที่ได้ขนาดที่ตั้งใจไว้
4. การให้อาหารในการเลี้ยงในระบบปิดต้องให้อาหารน้อยกว่าการเลี้ยงระบบถ่ายน้ำ เพราะถ้าเพิ่มอาหารมากกว่าในระบบเปิดของเสียต่างๆที่สะสมในบ่อจะไม่สามารถบำบัดหรือเคลียร์ได้ทัน ผลที่สุดก็คือปริมาณแอมโมเนียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สีน้ำเข้มจัดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น เกิดการบลูมของแพลงก์ตอนที่ไม่ดีมากขึ้น จนในที่สุดกุ้งจะน้อคเร็วกว่าบ่อที่ให้อาหาร แบบที่เรียกกันให้เข้าใจง่ายคือ บีบอาหารคือให้อาหารน้อยกว่าเดิมที่เคยเลี้ยงในระบบเปิด
5. การใช้เครื่องให้อากาศในตอนกลางวันที่สีน้ำดีอยู่แล้วมีแสงแดดจัดควรจะปิดเครื่องให้อากาศเป็นเวลานานๆ เพื่อควบคุมความเข้มข้นของสีน้ำ เพราะถ้าเปิดเครื่องให้อากาศมากตลอดเวลาในช่วงฤดูร้อน สีน้ำจะเข้มจัดเร็วมากจนเกิดแพลงก์ตอนตายและเป็นเมือกเป็นฟองตลอดเวลา แต่เมื่อต้องการทำความสะอาดพื้นบ่อ ต้องเปิดเครื่องทุกตัว และให้เน้นความแรงของน้ำจากขอบบ่อ ที่ต้องแรงพอที่จะทำให้ตะกอนเข้ามารวมกันกลางบ่อ
ข้อควรระวังคือหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องให้อากาศจำนวน มากเกินไป แต่ตำแหน่งไม่ถูกต้องทำให้กระแสน้ำไม่สามารถหมุนรอบขอบบ่อเข้ามาข้างในได้ เกิดบริเวณช่วงอับเป็นที่ตกตะกอนเกิดขึ้นในที่สุดเลนจะกระจายทั่วบ่อสร้าง ปัญหาได้
6. การใช้วัสดุปูนและปุ๋ยต้องอยู่ในขอบเขตกำจัด เพื่อลดการบลูมของแพลงก์ตอน ปุ๋ยอาจจะใช้เฉพาะในช่วงการเตรียมสีน้ำก่อนปล่อยกุ้งเท่านั้น ส่วนการใช้วัสดุปูน เพื่อควบคุมพีเอชต้องน้อยกว่าการเลี้ยงระบบเปิด เนื่องจากการใช้ระบบปิดนานค่าอัลคาไลน์ (alkalinity) จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พีเอชที่เหมาะสมในขณะที่เลี้ยงกุ้งตอนเช้าควรอยู่ระหว่าง 7.7-8.0 และตอนบ่ายควรจะสูงกว่าตอนเช้าประมาณ 0.2-0.3 ถ้าพีเอชต่ำกว่านี้ ก็อาจเติมวัสดุปูนได้ตามสภาพของสีน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของพีเอชดังต่อไปนี้
6.1 ถ้าพีเอชของน้ำในตอนเช้าต่ำกว่า 7.5 ควรเติมวัสดุปูน เช่น ปูนขาว หรือปูน อื่นๆเช่นปูนมาร์ลหรือโดโลไมท์ เพื่อเพิ่มพีเอชของน้ำ ควรจะใช้ครั้งละน้อยๆเท่านั้น เมื่อพีเอชอยู่ในระดับที่พอดีแล้วหยุดการใช้วัสดุปูน
6.2 ถ้าพีเอชของน้ำสูงมากทั้งเช้าและบ่ายทั้งๆ ที่ไม่ได้เติมวัสดุปูน เช่น พีเอชตอนเช้า 8.5-8.6 ส่วนตอนบ่าย 8.8-9.0 เป็นต้น เนื่องมาจากมีแพลงก์ตอนบางชนิดเป็นจำนวน เช่น โอโอซิสติส ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนในกลุ่มสีเขียว น้ำจะมีสีเขียวอ่อนอมเหลือง (ไม่เข้มเหมือนพวกสาหร่ายกลุ่มน้ำเงินแกมเขียวพวก ออสซิลลาตอเรีย ควรลดปริมาณของสาหร่ายพวกนี้ซึ่งทำได้โดยใช้ฟอร์มาลินไร่ละ 40 ลิตร น้ำลึกประมาณ 1.50 เมตร ในตอนกลางวันที่อากาศดี เปิดเครื่องให้อากาศตลอดเวลา เพื่อป้องกันการลดลง ของออกซิเจนในตอนเช้ามืดในวันต่อมา เนื่องจากฟอร์มาลินจะรวมกับออกซิเจน เกิดเป็นกรดฟอร์มิก พีเอชจะลดลงมาในระดับปรกติ
6.3 ถ้าน้ำมีสีเขียวเข้มมาก เนื่องจากสาหร่ายสกุล ออสซิลลาตอเรีย ควรใช้คลอรีนผง 1 กิโลกรัม/ไร่ น้ำลึก 1.50 เมตร ละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อเพื่อลดปริมาณแพลงก์ตอน ในเวลากลางวันประมาณ 8 โมงเช้า อาจจะเติมคลอรีนผงติดต่อครั้งละ 2 วัน
6.4 ในกรณีที่น้ำมีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลแดงเนื่องจากมีปริมาณไดโนแฟลกเจลเลตมาก ควรจะลดปริมาณแพลงก์ตอนพวกนี้โดยการปิดเครื่องตีน้ำในตอนกลางวัน ให้แพลงก์ตอนพวกนี้ลอยขึ้นมาที่ผิวและรวมกลุ่มกันในบ่อทางด้านใต้ลม ก็ใช้บีเคซีสาดเฉพาะในบริเวณนั้น ซึ่งจะลดปริมาณการใช้บีเคซีได้มาก และต้องการกำจัดเฉพาะบริเวณนั้นเท่านั้น ในกรณีที่ต้องการลดปริมาณแพลงก์ตอนพวกนี้โดยรวมๆทั้งบ่อทำได้โดยเปิดเครื่อง ตีน้ำ ใช้บีเคซี 1.5 ลิตรต่อไร่ (บีเคซี 80%) หรือ 2.4 ลิตรต่อไร่สำหรับบีเคซี 50% น้ำลึก 1.50 เมตร
6.5 ในกรณีที่น้ำมีตะกอนขาวขุ่นมากเมื่อเปิดเครื่องตีน้ำ ก็ควรจะปิดเครื่องตีน้ำตอนกลางวัน ให้ตะกอนตกลงมาน้ำจะใสขึ้น แพลงก์ตอนที่ยังไม่ตายก็จะลอยขึ้นมารวมกันบริเวณผิวน้ำทางด้านท้ายลม ถ้าตรวจเช็คดูแล้วพบว่าเป็นแพลงก์ตอนที่ดีมีประโยชน์ ก็ใสปุ๋ยโดยใช้ยูเรียผสมน้ำสาดเฉพาะบริเวณนั้น สีน้ำก็จะเพิ่มขึ้น การเปิดเครื่องตีน้ำตลอดเวลา เมื่อน้ำมีตะกอนขุ่นขาวยิ่งเป็นการเพิ่มตะกอน และในที่สุดก็จะเข้าเหงือกกุ้งจนถึงระดับที่กุ้งน้อคได้
7. จัดการพื้นบ่อให้สะอาด โดยเฉพาะในบริเวณที่ให้อาหารมีความจำเป็นมาก พื้นบ่อสะอาด โอกาสที่กุ้งจะป่วยก็ลดลง ดังนั้นการเลี้ยงระบบใดก็ตามต้องให้ความสำคัญกับพื้นบ่อมาก แนวทางต่างๆที่เสนอแนะมานี้ เป็นหลักการที่ใช้ปฏิบัติในการเลี้ยงกุ้งในระบบปิด ซึ่งค่อนข้างจะต้องมีความละเอียด ในการวัดวิเคราะห์ค่าต่างๆมากกว่า การเลี้ยงในระบบเปิด ซึ่งผู้เลี้ยงส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เคยชิน ต้องใช้เวลาในการปรับตัวบ้าง
ฟาร์มรายย่อย ที่ไม่มีอุปกรณ์ในการตรวจวัดค่าต่างๆ ควรจะนำน้ำไปตรวจยังศูนย์บริการต่างๆเป็นประจำ เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ และสภาพในบ่ออย่างต่อเนื่อง การเลี้ยงกุ้งโดยใช้ระบบปิดในช่วงฤดูฝน จะได้ผลดี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจะควบคุมสีน้ำไม่ให้เข้มมาก และความเค็มก็ไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดโรคดวงขาวจะลดลง แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท ในแหล่งเลี้ยงกุ้งที่รุ่นก่อนมีปัญหาโรคนี้มาก น้ำที่นำเข้ามาก่อนปล่อยลูกกุ้งควรใส่คลอรีนก่อน เพื่อกำจัดพาหะต่างๆที่อาจจะมีเชื้อไวรัส ได้แก่ กุ้งเคย และกุ้งชนิดอื่นๆที่มักปะปนเข้ามากับน้ำ ตอนเตรียมน้ำก่อนปล่อยลูกกุ้ง