หลังจากแม่ปลาวางไข่ 3 วัน ลูกปลาจะฟักเป็นตัวแต่จะยังอยู่ในบริเวณเปลือกไข่ จะเห็นส่วนหางเต้นไปมา ส่วนหัวจะเป็นจุดสีดำ ในระยะนี้ลูกปลาจะไม่กินอาหารเพาะมีถุงไข่ (Yolk sac) อยู่ในบริเวณท้องหลังจากนั้นอีก 3 วัน คือวันที่ 6 หลังจากเมื่อปลาวางไข่ ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำมาเกาะเพื่อกินเมือกบริเวณลำตัวพ่อแม่ปลา สีของลำตัวของพ่อแม่ปลาจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นจนเกือบดำ พ่อแม่ปลาจะพยายามอมลูกปลาแล้วพ่นไปที่โดม ระยะนี้เป็นระยะที่สำคัญมาก ถ้าพ่อแม่ปลาตกใจจะกินลูกปลาเข้าไปเลย
และควรระมัดระวังการให้อาหารพ่อแม่ปลา อย่าให้อาหารมากเพราะจะทำให้น้ำเสียเนื่องจากจะไม่มีการเปลี่ยนน้ำในระยะนี้
ในวันที่ 7 มีการถ่ายน้ำพร้อมกับดูดตะกอนออก ควรระมัดระวังลูกปลาจะติดไปในระหว่างดูดตะกอน ให้เหลือน้ำอยู่ประมาณครึ่งตู้เท่านั้น
ในวันที่ 8 ค่อย ๆ ดูดตะกอนและเริ่มเติมน้ำโดยใช้สายยางเล็ก ๆ หยดน้ำลงไปคล้ายกับการให้น้ำเกลือเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด โดยถ้าถ่ายน้ำตอนเช้าจะต้องเติมน้ำโดยใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง จึงจะได้ระดับครึ่งตู้เท่ากับเมื่อวันที่ 7 (การเปลี่ยนน้ำควรเติมน้ำเท่ากับปริมาณน้ำที่มีอยู่เดิม) และเปลี่ยน้ำเช่นนี้ต่อไปทุกวัน
ในวันที่ 13 ลูกปลาเริ่มว่ายน้ำไปมาอย่างอิสระบ้างแต่ยังกินเมือกของพ่อแม่ปลาเป็นอาหารอยู่ สามารถให้อาหารเสริมได้ คือ อาร์ทีเมียที่เพาะใหม่ ๆ หรือลูกของไรแดง
การแยกลูกไรแดงออกจากไรแดงตัวโต สามาถทำได้โดยใช้กระชอนตาถี่ที่ลูกไรสามารถลอดออกมาได้ไปช้อนไรแดงแล้วแกว่งในกะละมังที่มีน้ำอยู่ ลูกไรแดงจะหลุดออกมาอยู่ในกะละมัง แต่ไรแดงตัวโตไม่สามารถคลอดออกมาได้ จากนั้นจึงใช้กระชอนตาถี่ที่เล็กกว่าขนาดลูกไรไปช้อนมาอีกทีก็จะได้แต่เฉพาะลูกไรแดงขึ้นมา การให้ลูกไรแดงควรระมัดระวังไรชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายไรแดงแต่มีเปลือกแข็งคล้าย
แมลง เพราะถ้าลูกปลากินเข้าไปจะทำให้ตายได้
ในวันที่ 17 สามารถแยกแม่ปลาออกจากลูกปลาได้ในระยะนี้ และลูกปลาขนาดนี้ซึ่งเรียกว่าระยะแกะออกจากแม่หรือขนาดเม็ดแตงโม ขายได้ในราคาตัวละ 7-8 บาท หรือจะเลี้ยงต่อไปจนอายุ 1 เดือน จนถึงขนาดเหรียญบาทซึ่งมีราคาตัวละ 20-30 บาท ทั้งนี้แล้วแต่ความต้องการของตลาด ในระยะนี้ควรหัดให้ลูกปลากินไข่กุ้งเพื่อเป็นการเร่งสี ซึ่งจะทำให้ปลามีสีแดงขึ้นและขายได้ง่ายขึ้น
พ่อแม่ปลาที่แยกออกจากลูกปลาในระยะที่ลูกปลามีอายุ 17 วัน นั้นจะผสมพันธุ์และวางไข่ได้อีกโดยใช้เวลาพักตัวประมาณ 1 อาทิตย์ ในระยะพักตัวนี้ควรให้อาหารเสริมจำพวกวิตามิน E , K หรือวิตามินรวม เนื่องจากในระยะเลี้ยงลูกเราต้องใส่ยาปฏิชีวนะตลอดเวลาเพื่อป้องกันโรคทำให้ปลาขาดวิตามิน E,K ซึ่งอาจทำให้ปลาตัวผู้นี้มีโอกาสเป็นหมันอย่างถาวร และตัวเมียเป็นหมั่นชั่วคราวได้ โดยใส่วิตามิน E,K หรือวิตามินรวมลงไปในอาหารและแช่ทิ้งไว้ก่อนให้ประมาณ 20 นาที
ในบางครั้งเมื่อเพาะปลาจะประสบกับปัญหาไข่เสียไม่ฟักเป็นตัว ซึ่งมีสาเหตุอาจเนื่องจากตัวผู้มีน้ำเชื้อไม่ดีเพราะเพาะพันธุ์ถี่เกินไป หรือเพราะน้ำมีคลอรีน ผู้เพาะเลี้ยงปลาบางรายจึงมีปลาตัวผู้หลายตัวไว้สับเปลี่ยนกัน แต่ถ้าสับเปลี่ยนตัวผู้แล้วไข่ยังเสียติดกัน 4-5 ครั้ง หรือเมื่อตัวเมียวางไข่แล้วไข่หลุดออกจากโดมก็ควรพักพ่อแม่ปลาอย่างน้อย 1 เดือน