ว่ากันถึงเรื่องปลากัดนี้เมื่อเอ่ยถึงผมว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักปลากัด ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ปลากัดเป็นปลานักรบที่องอาจเป็นนักรักผู้ยิ่งใหญ่และเป็นพ่อที่แสนดี ผมจำได้ดีทีเดียวเมื่อตอนที่ผมเป็นเด็ก อายุราวซักแปดขวบ พ่อพาผมไปเดินเที่ยวที่สนามหลวง (เป็นตลาดนัดที่จัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมีสวนจตุจักร มีมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิดอยู่ข้างพระมหาราชวัง ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพฯ พอวันศุกร์จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงร้านค้ากางผ้าใบกันฝนกัน ขายวันเสาร์-อาทิตย์ พอวันจันทร์ไม่มีเหลือเลยจะมาตั้งใหม่วันศุกร์อีกครั้ง) เพื่อไปซื้อปลาหางนกยูงมาใส่ตู้ที่บ้าน บรรยากาศน่าสนุกมากเลยมีร้านค้ามากมาย เดินมาถึงร้านค้าปลาสวยงามมีเป็นแถวเลยทั้งสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ อยู่ปะปนกันไป พ่อเจอของที่ต้องการแล้ว ร้านขายปลาหางนกยูงใส่กะละมังไว้เป็นสิบกะละมังแยกตัวผู้ตัวเมียไว้ พ่อง่วนอยู่กับการเลือกปลาหางนกยูง ผมเหลือบไปเห็นร้านขายปลากัดเอาปลาใส่ขวดเหล้าแบนไว้เป็นแถว จัดวางแบบขั้นบันไดมีลุงแก่หน้าตาน่ากลัวมองมาทางผมเผยรอยยิ้มมีคราบสีชาเหมือนคนไม่เคยแปรงฟันมาเป็นปี แกรีบเปิดกระดาษที่กั้นปลาออก พอเปิดกระดาษที่กั้นปลาออกปลาก็พุ่งเข้าใส่กัน เอาปากถูไปมากับขวดขึ้น ๆ ลง ๆ ผมจ้องมอง ทั้งชอบและกลัวตาลุงคนขายนั่น แกคงคิดว่าไอ้หนูคนนี้ต้องร้องไห้เรียกพ่อซื้อปลาของแกเป็นแน่ แกหยิบด้ามไม้ไผ่ที่ปลายหนึ่งเอาใบจากมาทำเป็นกรวยคล้ายเรือเอาเทียนมาหยดเป็นดวง ๆ ทั้งสีเหลืองสีขาวส่วนปลายอีกข้างหนึ่งเอาไฟเผาไว้ไหม้เหมือนถ่านดำเมี่ยมทีเดียว แกเอาแกว่งไปมาซ้ายขวาผ่านขวดแบน ปลาที่อยู่ในขวดทีแรกเห็นนอนนิ่งตัวไม่ใหญ่สักเท่าไรพุ่งรี่ขึ้นมากางเหงือกพองหางทำตัวสั่นริก ๆ โหสวยจริง ๆ ครับ ดูสง่างามน่าเกรงทีเดียว ตาลุงคนขายได้ใจเอาไม้แกว่งใหญ่ซ้ายทีขวาทีปลากัดที่อยู่ในขวดก็หันซ้ายขวาตามปลายไม้เผาไฟ แล้วแกก็เอ่ยว่า “เอาไหมไอ้หนู กัดสุด ๆ เมื่อเช้ายังกัดไอ้ร้านนู้น” พรางก็ชี้มือไปที่ไหนก็ไม่รู้มองไปตามปลายนิ้วก็ยังไม่เห็นร้านไหนขายปลากัดเหมือนแกเลย “ท้องแตกหางกุดเลย สุดยอดเลยเพชรแท้นะนี่” ไอ้เราก็ไม่รู้ว่าแกหมายถึงอะไรไอ้เพชรนี่ “ตัวละแปดบาทเอง รับรองไม่ผิดหวัง” พอแกพูดจบพอดีกับพ่อมาจูงมือผมพร้อมกับถุงปลาหางนกยูงประมาณ 3 คู่ (ขอบอกพ่อเอาไปปล่อยในตู้ได้ประมาณ 3 วันก็ตายเรียบเลย สมน้ำหน้าไม่ยอมซื้อปลากัดให้เรา) ตาลุงคนขายมองตามผมไปจนต่างคนต่างมองไม่เห็นกัน สงสัยคงอยากด่าว่าเสียดายโฆษณาอยู่ตั้งนานมันไม่ยักร้องให้พ่อมันซื้อ ตั้งแต่นั้นมาผมก็เริ่มสะสมปลากัดเป็นของตัวเองทีละตัว ๆ  มารู้ตัวอีกทีก็ 20 กว่าตัวเข้าไปแล้ว ผมเลี้ยงปลามาก็หลายชนิดรวมกระทั่งเปิดร้านขายปลามาก็หลายปี  ผมมีความผูกผันกับเจ้าปลาตัวเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า “ปลากัด” นี่หละครับ ถ้าใครยังไม่เคยเลี้ยงลองดูครับ ปลาแบบไทย ๆ แล้วคุณจะรักเจ้าปลากัดเหมือนผมก็เป็นได้

สนามหลวง

          

ปลากัดอีสาน Emerald Betta                        ปลากัดดุเหว่า One-spot Betta

     ปลากัดเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยนี่เองและก็มีในแถบเอเซียเกือบทั่วไป เช่น มาเลเซีย เวียดนาม เขมร และจีน แหล่งที่อยู่ในธรรมชาติของปลากัดจะพบได้ทั่วไปในนาข้าว ลำคลอง หนอง บึง และตามบริเวณที่มีน้ำไหลอย่างช้า ๆ ปลากัดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Betta Splendens ซึ่งคำว่า ” Betta” มาจากคำว่า “Bettah” เป็นคำมาจากตำนานทางประวัติศาสตร์ หมายถึงกลุ่มชนชาติของผู้ที่เป็นนักรบ ส่วนคำว่า Splendens มาจากคำว่า “Splendid” มีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Beautiful” ซึ่งแปลว่าสวยงามตามภาษาไทย ดังนั้นคำว่า “Beatta Splendens” จึงมีความหมายโดยรวมว่า “นักรบผู้สง่างาม” นั่นเอง

     ปลากัดแต่โบราณนั้นลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง และมีเส้นขนานลำตัว 2-3 เส้น ตัวผู้จะมีสีเข้มและมีครีบใหญ่กว่าตัวเมีย เกล็ดมีสีเขียว ส่วนหลังมีสีเข้มดำ ปลากัดในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่า 11 สายพันธุ์เลยทีเดียว ปลากัดที่พบเห็นปกติในประเทศไทยนั้นไม่ว่าจะเป็นปลากัดหม้อหรือปลากัดจีน จะหมายถึงปลากัดที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Betta Splendends (เบ็ตต้า สเปลนเดน) หรือชื่อสามัญว่า “Siamese Fighting Fish”

         

 ปลากัดกระบี่ Krabi Betta                      ปลากัดน้ำตก Mouthbrooding Betta

     การพัฒนาปลากัดในประเทศไทยของเรามาจากปลากัดป่าที่มีอยู่ทั่วไปเกือบทุกภาคเลยทีเดียว มีเหงือกสีเขียว ตะเกียบดิ่งยาวสีแดงและเกล็ดมีสีเขียวเข้มแวววาว ปลากัดได้ถูกพัฒนามายาวนาน ผมไม่สามารถบอกได้ว่านานเท่าไหร่แล้ว หาเอกสารมายืนยันไม่ได้ พอเกิดมาก็เห็นปลากัดลูกทุ่งและก็ปลากัดหม้อรวมถึงปลากัดจีนด้วย ปลากัดลูกทุ่งหรือเรียกตามชาวบ้านว่าปลากัดป่า เป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างเล็กมีสีน้ำตาลแกมเขียว มีเหงือกสีเขียวมองเห็นได้ชัดเป็นสองขีดที่บริเวณแก้ม มีเกล็ดเงาแวววาวสีเขียว วิถีชาวบ้านไทยตามชนบทชอบนำปลากัดชนิดนี้มากัดกันช่วงยามว่างจากงาน มีทั้งแบบพนันขันต่อ และเกมกีฬา ปลากัดลูกทุ่งเป็นปลากัดที่หาได้ง่าย เช่นตามทุ่งนา หนอง บึง เมื่อไม่นานมานี้ผมไปภาคใต้มาที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เขายังกัดปลาประเภทนี้กันอยู่เลย มีบ่อนปลากัด บ่อนวัวชนด้วย ผมว่าปลากัดลูกทุ่งภาคใต้สวยดีนะครับถ้ายิ่งตัวใหญ่ ๆ หายากด้วยแล้ว สวยมากเลยครับไม่น่าเอามากัดกันเลย แต่มันก็เป็นวิถีชาวบ้านและอีกอย่างปลากัดเป็นปลานักสู้โดยธรรมชาติ เกล็ดร่วงครีบแหว่งไม่นานก็ขึ้นเต็มหมด ปลากัดลูกทุ่งเป็นปลากัดที่กัดกันไม่ค่อยทน สู้ปลากัดหม้อไม่ได้ มีบางคนหัวหมอเอาปลากัดลูกทุ่งไปผสมกับปลาหม้อ ปลาครอกนึงจะมีปลาทีมีสีสันคล้ายปลากัดลูกทุ่งแทบดูไม่ออกก็มี แต่ถ้าถูกจับได้ มีตืบแน่ไม่แนะนำ ปลากัดลูกทุ่งที่ผสมผ่านปลาหม้อชาวบ้านมักเรียกว่าปลา “ลูกสังกะสี” ทางภาคใต้เรียกว่า “ลูกแซง” เป็นปลาที่มีลีลาการกัดที่ดี กัดดุ กัดหนัก ดีกว่าปลากัดลูกทุ่งแท้ ๆ มาก มีน้ำอดน้ำทนดีกว่าปลาลูกแท้ ปลากัดที่ดีก็จะถูกคัดไว้ทำการผสมพันธุ์ต่อไป จึงเปรียบได้ว่าการคัดและการพัฒนาปลากัดของไทยเรามีมานานแล้ว การคัดสรรหาปลากัดที่ดีมาทำพ่อ-แม่พันธุ์ต่อ ๆ มา จากปากและประสบการณ์ของผู้เฒ่าผู้แก่นักเลงปลากัดได้แบ่งปลาที่มีลักษณะปลากัดลูกทุ่งที่ดีออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ  ปลากัดลูกทุ่งรูปทรงคล้ายปลาช่อน สังเกตุง่าย ๆ คือเป็นปลาที่มีลำตัวกลมยาว หัวโต ครีบใหญ่ กระโดงใหญ่ โคนหางใหญ่ ปลายหางมีรูปคล้ายใบโพธิ์ นับเป็นปลาที่มีประวัติการกัดที่ดี ส่วนอีกลักษณะคือปลากัดที่เป็นรูปทรงปลาช่อนเช่นเดียวกันแต่มีหางกลมมน ปลากัดลูกทุ่งชนิดนี้เป็นปลาที่กัดได้แรงและเชิงลีลาดี

ปลากัดลูกทุ่งหรือปลากัดป่า

                          

ปลากัดลูกผสมหรือปลากัดลูกแซง                        ปลากัดลูกหม้อหรือปลากัดเก่ง

         

ปลากัดหม้อแฟนซีสีธงชาติ                                      ปลากัดป่าลูกผสมเคลือบเงาทุ่งครุ

     พูดถึงปลากัดที่มีคนนิยมเลี้ยงกันมากที่สุดก็เห็นจะไม่มีใครเกินเจ้า ปลากัดหม้อ นี่แหละ ปลากัดหม้อมีลักษณะที่มีลำตัวโตกว่าปลากัดป่าและปลากัดลูกผสมมาก มีสีเข้มดำ เป็นปลากัดที่พูดได้ว่ามีน้ำอดน้ำทนสูง กัดได้นานและทนกว่าปลากัดชนิดอื่น ๆ ปลากัดลูกหม้อมีอยู่ด้วยกันหลายสี ตั้งแต่โบราณมาปลากัดลูกหม้อที่มีตำนานประวัติการกัดที่ดี หนัก และเชิงลีลาสุดยอด เช่นปลากัดลูกหม้อสีน้ำเงิน สีแดง สีประดู่ (แดงปนน้ำเงิน) สีเขียวคราม สีเทาหรือสีเหล็ก ทั้งหมดนี้ส่วนหัว ปาก และใต้ท้องจะมีสีเข้มดำ ปลากัดลูกหม้อแต่ละครอก ถ้ากัดได้ดีหรือมีเชิงลีลาการกัดที่ดีก็จะกัดได้ดีหมดทั้งครอก คือมีเลือดนักกัดที่ดี ถ้าไม่เอาอ่าวก็เป็นเหมือนกันหมดทั้งครอกเช่นกัน ผมได้ข้อมูลของการเลี้ยงปลากัดลูกหม้อหรือที่เรียกว่าปลากัดเก่งมาจากน้าต้อม น้าเขาเขียนไว้เป็นเล่มเลยหละ มีทั้งวิธีการเลี้ยง การหมักปลา การดูแลก่อนกัด การบำรุงปลากัด และกลโกงในบ่อนปลากัด เอาไว้ผมจะนำมาลงให้อ่านกันเผื่อจะเป็นแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงปลากัดเก่งของเพื่อน ๆ ต่อไป 

         

 ปลากัดจีนหางภู่กัน                       ปลากัด Half moon ( Breed by dong2002 )

         

ปลากัดสีแดงเพลิง Super Red                                ปลากัด Crowntail

     ปลากัดจีนเป็นปลากัดที มีครีบยาว มีหางยาว และมีสีสันสดใส ปลากัดจีนในประเทศไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านสีสัน ด้านหางที่ยาวขึ้นและลักษณะหางที่แปลกใหม่แตกต่างออกไปจากปลากัดจีนดั่งเดิม ที่มีหางเป็นลักษณะเหมือนปลายภู่กันจีน แต่มีอยู่อย่างเดียวที่ไม่พัฒนาตามไปด้วยก็คือราคา ปลากัดจีนเป็นปลากัดที่มีสีสันสวยงามมาก มีด้วยกันหลายสีแทบเรียกได้ว่าเกือบครบทุกสีในปัจจุบัน การพัฒนาด้านสีสันต่าง ๆ ของปลากัดก็มาจากการยืมสีของปลากัดจีนมาใช้ ชาวต่างชาติได้นำปลากัดจีนเข้าสู่ซานฟรานซิสโก แล้วก็พัฒนาด้วยงบประมาณให้มีหางที่ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งหางเป็นรูปครึ่งวงกลมและตั้งชื่อว่า “Half Moon” ส่วนปลากัดหนามเตยของไทยเรามีลักษณะหางที่เป็นแฉก ๆ แหลมคล้ายหนามเตย (หนามแหลมที่ใช้เกาะเม็ดพลอยบนแหวนต่าง ๆ )ชาวต่างชาติเจ้าเดิมก็นำไปพัฒนาด้วยงบประมาณใหม่เป็นหางที่แหลมลึกและยาวกว่าปลากัดหนามเตยของไทยเรามากและก็ได้ตั้งชื่อว่า ” Crowntail” (หางมุงกุฎ) แต่อย่างไรก็ตามแต่เมื่อปลาเหล่านี้ได้กลับมาถึงเมืองไทยแรก ๆ เรียกได้ว่ามีอยู่ไม่กี่สี และมีราคาแพงมหาศาล นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันปลากัดเชื้อสายไทยที่ได้ถูกนำไปพัฒนาที่ต่างชาติก็ได้กลับมามีสีสันมากมายหลากสีเรียกได้ว่า “ฝรั่งงง”  นักพัฒนาปลากัดของไทยเรามิใช่ว่าไม่มีฝีมือ เรียกได้ว่าเป็นมือเพาะปลาอันดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ไม่ว่าแต่เพียงปลากัดอย่างเดียวนะครับ การพัฒนาปลากัดบ้านเราพูดได้ว่าเร็วมาก ผมไม่อยากให้เป็นการมาเร็วไปเร็ว ปลากัดเป็นปลาที่อายุไม่ยืนเท่าไหร่นัก แต่เป็นปลาที่มีการเลี้ยงและพัฒนามาในประเทศไทยของเรามาอย่างยาวนานจนชาวต่างชาติเรียกติดปากว่า “Siamese Fighting Fish”  อย่างไรก็ตามตัวผมเป็นคนรักปลากัดและชอบวิถีชีวิตของปลากัดมาก เรียกได้ว่าประทับใจเลยทีเดียว อยากเชิญชวนเพื่อน ๆ อนุรักษ์ปลาประจำชาติของเราเอาไว้ ใครที่ยังไม่ได้คิดจะเลี้ยงปลาอะไรลองหาปลากัดไปเลี้ยงไว้สักตัว วางไว้ที่ห้องรับแขก บนโต๊ะทำงาน ในห้องน้ำ ในห้องนอน ให้ของขวัญสาว ๆ ดูก็ได้นะครับ….

http://www.khonrakpla.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=86432&Ntype=10