• ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Goura cristata
  • ลักษณะทั่วไป : นกพิราบหงอนจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับ นกพิราบ เนื่องจากมีปากเป็นหลอดเหมือน ๆ กัน ตัวป้อมหนา อกตัน ขาค่อนข้างสั้น ปีกกว้างใหญ่ ขนตัวส่วนใหญ่มีสีฟ้าอมเทา บนหัวมีหงอนประกอบด้วยเส้นขนแผ่บานเป็นสันอย่างน่าดูซึ่งมีขนาดใหญ่เท่าฝ่า มือ นกเพศผู้และเพศเมียมีสีสันใกล้เคียงกัน จะต่างกันก็ที่ขนาด นกเพศผู้ตัวใหญ่กว่า การจำแนกนกชนิดนี้ออกเป็น 3 ชนิด โดยจำแนกจากรูปร่างที่ต่างกันไปตามแหล่งที่อยู่อาศัย นกพิราบหงอน ซึ่งพบง่ายและเป็นที่นิยมนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์มากที่สุดคือ นกพิราบหงอนธรรมดา หรือ Common Crowned Pigeon หรือ Blue Crowned Pigeon (Goura cristata) ความยาวเฉลี่ย 75 – 85 เซนติเมตร มีน้ำหนักราว 1.3 กิโลกรัม ขนตัวสีฟ้าอมเทา หงอนสีเดียวกับตัวแต่อ่อนจางกว่า ปลายหางมีสีเดียวกับหงอน บริเวณหน้ามีแถบสีดำเป็นหน้ากากพาดจากมุมปากผ่านตาไปยังแก้ม คางสีดำ ขอบปีกขาว ปากสีเทาดำลักษณะคล้ายปากนกพิราบแต่ใหญ่ยาวกว่า ขาสีเทา เท้าสีชมพู ม่านตาสีแดงหรือส้ม มีถิ่นที่อยู่อาศัยในบริเวณแถบตะวันตกเฉียงเหนือของนิวกินี ส่วนอีก 2 ชนิด ได้แก่นกพิราบหงอนวิคตอเรีย หรือ Victoria Crowned Pigeon (Goura Victoria) มีความแตกต่างกับนกพิราบหงอนธรรมดาตรงที่สันหรือหงอนบนหัวจะแบนตรงปลาย และมีขอบสีขาวด้วย หน้าอกมีสีม่วงแดงคาดแถบดำปากสีดำ เท้าสีม่วงแดง พบบริเวณนิวกินีเช่นกัน ชนิดสุดท้าย คือ นกพิราบหงอนซิพเมคเกอร์ หรือ Scheepmaker’s Crowned Pigeon (Goura scheepmakeri) นกชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับชนิดวิคตอเรียมาก ต่างกันเพียงสีตัวทั้งหมดที่เป็นสีฟ้าเทาเท่านั้น พบในภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของนิวกินี เนื่องจากนกพิราบหงอนทั้งสามสายพันธุ์ มีความใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดการผสมข้ามชนิดได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้นผู้ที่นำนกเหล่านี้มาเลี้ยงปนกันทั้งสองสามชนิดจะเป็นการสร้างนกลูก ผสมขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายสายพันธุ์แท้ของนกพิราบหงอนลง หากเลี้ยงไว้ดูเล่น แต่ถ้าปล่อยคืนธรรมชาติจะเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์ป่าวิธีอ้อมทางหนึ่งอย่าง ไม่รู้ตัว
  • ถิ่นอาศัย, อาหาร : พบในทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะใกล้เคียง เช่น เกาะนิวกินี นกพิราบหงอนกินผลไม้ เมล็ดพืชที่ร่วงหล่นลงพื้น รวมทั้งหนอน และแมลง
  • พฤติกรรม, การสืบพันธุ์ : ชอบอาศัยอยู่โดยจะรวมฝูงสักประมาณ 10 ตัว อยู่ตามพงหญ้าหรือในป่าเพื่อหาอาหาร หากมีเหตุหรือศัตรูเข้ามาใกล้จะส่งเสียงดังพร้อมทั้งบินขึ้นพร้อม ๆ กันไปเกาะดูเหตุการณ์อยู่บนต้นไม้ การทำรังส่วนใหญ่ของนกชนิดนี้ใช้เศษไม้ กิ่งไม้เล็ก ๆ ขัดสานเป็นรังหยาบ ๆ ทรงแบนคล้ายตะกร้าตามคบไม้ที่ไม่สูงนัก วางไข่คราวละ 2 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ราว 28-30 วันจึงออกเป็นตัว ในระยะฟักไข่และเลี้ยงลูกจะมีนิสัยก้าวร้าวอาจทำร้ายนกอื่นได้
  • สถานภาพปัจจุบัน :
  • สถานที่ชม : สวนสัตว์ดุสิต, สวนสัตว์เชียงใหม่, สวนสัตว์สงขลา