การเพาะพันธุ์ปลาทองที่ง่ายและประหยัด คือ การใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยการปล่อย
ให้พ่อแม่ปลารัดกันเองในบ่อผสมพันธุ์   ซึ่งมีขั้นตอนการเพาะพันธุ์ ดังนี้
การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์
                บ่อเพาะพันธุ์ปลาทอง ได้แก่ บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์นั่นเอง ปลาทองเป็นปลาตระกูลเดียวกับปลาไน
 ลักษณะไข่จะเป็นแบบเดียวกัน คือเป็นไข่ติดไข่ปลาทองมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร
เนื่องจากเป็นไข่ติดจึงต้องเตรียมวัสดุยึดเกาะ วัสดุดังกล่าวเรียกว่า รังเทียม ได้แก่ การนำพันธุ์ไม้น้ำ
เช่นสาหร่ายฉัตร สาหร่ายหางกระรอก มามัดรวมกันเป็นกำ กำละ 10-15 ต้น หรือผักตบชวาที่มีรากยาว
นำไปใส่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ให้กระจายทั่วผิวน้ำ นอกจากนี้อาจใช้เชือกฟางซึ่งตัดให้ยาวประมาณ 50
เซนติเมตร ฉีกให้เป็นฝอยมัดตรงกลางจะได้รังเทียม นำไปใส่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ให้กระจายทั่วผิวน้ำ
 วิธีนี้มีข้อดีคือ สามารถนำรังเทียมที่ทำด้วยเชือกฟางกลับมาใช้ได้หลาย ๆ ครั้ง การใส่รังเทียม
ลงไปในบ่อเพาะจะเป็นการกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่นอกจากนี้ในบ่อเพาะพันธุ์ต้องมีการเพิ่มออกซิเจนตลอดเวลา
เมื่อใส่รังเทียมไปในตอนเย็นปลาจะวางไข่ในตอนเช้ามืดของอีกวัน โดยปลาตัวผู้จะเริ่มไล่ปลาตัวเมีย
และใช้หัวดุนที่ท้องปลาตัวเมียเพื่อกระตุ้นให้วางไข่ ปลาตัวเมียจะปล่อยไข่เป็นระยะ ๆ ในเวลาเดียวกันนั้น
ปลาตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมแล้วไข่กระจายติดกับรังเทียม แม่ปลาจะวางไข่ครั้งละประมาณ
500-1,000 ฟองวิธีการตรวจสอบอย่างง่าย ๆก็คือ หลังจากใส่รังเทียมในตอนเย็น
จะสามารถตรวจสอบการวางไข่ในตอนเช้า หากพบว่ามีการวางไข่จึงเก็บรังเทียมไปฟักในถังฟักไข่
ปลาทองสามารถวางไข่ได้ทั้งปี ดังนั้นจึงควรใส่รังเทียมลงไปทุกอาทิตย์
นอกจากนี้แม่ปลาทองจะวางไข่มากในช่วงฤดูหนาวซึ่งปลามีการผสมพันธุ์วางไข่ได้ทั้งวันในช่วงนี้
จึงต้องนำรังเทียมไปเติมในบ่อและเก็บไข่ไปฟักเป็นระยะ