ชื่อสามัญ Glass sheatfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ Kryptopterus bicirrhis (Valenciennes, 1840)

ลักษณะทั่วไปขอองปลาก้างพระร่วง
ปลาก้างพระร่วงเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กไม่มีเกล็ด จัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน รูปร่างด้านข้างแบนมาก ลำตัวยาวเรียว ท่อนหางโค้งงอเล็กน้อย มีชื่อเรียกหลายชื่อตามท้องถิ่น อาทิ ภาคกลางเรียก ปลาก้างพระร่วง ปลากระจก ภาคใต้เรียก ปลาบาง ปลาผี ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้ คือ เนื้อปลามีลักษณะโปร่งแสง ทำให้มองเห็นก้างภายในตัวได้อย่างชัดเจน ลำตัวยาวแบนข้างมีหนวด 2 คู่ หนวดคู่แรกอยู่บนขากรรไกรบน มีขนาดยาว และชี้ไปด้านหน้า ส่วนหนวดคู่ที่ 2 มีขนาดสั้นอยู่บนขากรรไกรล่าง ครีบหลังมีขนาดเล็ก และสั้นมากแทบมองไม่เห็น ครีบก้นยาวตลอดจนถึงครีบหาง หัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้น ตากลมโต ปลาก้างพระร่วงมีเฉพาะส่วนของหัว และกระเพาะอาหารเท่านั้นที่ทึบแสง ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15 ซม. ขนาดเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 8 – 10 ซม. ปลาก้างพระร่วงมีอุปนิสัยเป็นปลาที่ชอบอยู่ร่วมกันเป็นฝูงตั้งแต่ 10-20 ตัว ชอบน้ำค่อนข้างใส และไหลรินอยู่ตลอดเวลา เป็นปลาชอบความสงบเงียบ ตื่นตกใจง่าย กินอาหารค่อนข้างช้า เวลากลางคืนจึงออกมาหาเหยื่อ อาหารที่เหมาะสมกับปลาชนิดนี้ได้แก่ ลูกน้ำ ไรแดง ไส้เดือน ตัวหนอน เป็นต้น พันธุ์ปลาก้างพระร่วงในปัจจุบันใช้วิธีเก็บรวบรวมจากแหล่งธรรมชาติ ไม่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ ในธรรมชาติพบมากในบริเวณอำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี

การแพร่กระจาย
ถิ่นที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยพบในลำห้วย ลำธาร อ่างน้ำตกแถวภาคใต้ ภาคตะวันออก และในแม่น้ำ บางแห่งบริเวณภาคกลางของประเทศเป็นปลาในเขตร้อน ภาคพื้นเอเชียแปซิคฟิก พบที่เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในประเทศไทยมีรายงานว่าเคยพบที่จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และทางภาคใต้ ปัจจุบันแหล่งน้ำธรรมชาติในแถบภาคกลางแทบหาไม่พบปลาก้างพระร่วง แต่ยังคงพบในแหล่งน้ำตามธรรมชาติทางภาคใต้ เช่น จังหวัดสุราษฎธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง และสงขลา พบตามแหล่งน้ำไหล มีร่มไม้รกครึ้ม เวลากลางวัน มักหลบอยู่ตามรากไม้ และแนวร่มไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ เวลากลางคืนจึงออกมาหาเหยื่อ เป็นปลาที่ชอบลอยตัว และรวมฝูงตั้งแต่ 10-20 ตัว มักอยู่เป็นที่ กินอาหารประเภทแพลงก์ตอนสัตว์ ตัวอ่อนแมลงน้ำที่มีชีวิต ลูกน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กในธรรมชาติพบมากในบริเวณ อำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง ระหว่างเดือน มกราคม-พฤษภาคม ของทุกปี

วิธีการรวบรวมพันธุ์ปลา
การรวบรวมปลาก้างพระร่วง เนื่องจากปลาก้างพระร่วงเป็นปลาที่ชอบรวมตัวกันเป็นฝูง ในน้ำที่ใส ลึก และสะอาด การรวบรวมพันธุ์ปลาจึงใช้สวิงทำเป็นวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 70 ซม. ความยาวของด้ามถือประมาณ 1 เมตร ส่วนลึกของสวิงโค้งหย่อนลงให้พอสำหรับเมื่อช้อนปลาขึ้นมาแล้วปลาไม่สามารถกระโดดหนีไปได้ การรวบรวมปลาทำในเวลากลางคืน โดยใช้เรือออกไปในลำน้ำ เอาสวิงวางไว้ใต้น้ำ แล้วใช้ปลาดุกสดที่ขูดเนื้อมาละลายน้ำให้เกิดกลิ่นคาวเป็นเหยื่อล่อให้ปลาก้างพระร่วงออกมากินเหยื่อ ปลาก็ออกมาเป็นฝูง ๆ ปลาชนิดนี้ชอบอยู่ประจำที่ ทำให้ผู้หาทราบแหล่งในการเก็บรวบรวม และสถานที่จะเก็บไว้เป็นความลับเฉพาะตน การจับปลาในเวลากลางคืนสามารถจับได้มากกว่าในเวลากลางวัน เมื่อรวบรวมได้แล้วเก็บปลาไว้ในภาชนะโดยไม่ต้องให้อากาศจนรุ่งเช้า จึงนำปลาส่งขาย ส่วนวิธีหาปลาในเวลากลางวัน ซึ่งปลามักอาศัยหลบตามร่มเงาไม้ และใต้รากไม้ ผู้หาใช้สวิงลงรุนในลำคลองที่น้ำไม่ลึกจนเกินไป แล้วตักใส่ถังน้ำนำส่งร้านรับซื้อได้เลย

การอนุบาลปลาก่อนส่งขาย
เมื่อเกษตรกรนำปลามาขาย ควรพักปลาไว้ในบ่อที่เตรียม หรือใช้ผ้ายางกั้นทำเป็นบ่อก็ได้ ให้ออกซิเจนตลอดเวลา อาหารที่ใช้เลี้ยงควรเป็นอาหารธรรมชาติ เช่น หนอนแดง ลูกน้ำ แต่ตามปกติผู้รวบรวมต้องได้รับการติดต่อจากผู้สั่งซื้อมาก่อน แล้วจึงออกหาปลา ช่วงที่ยังไม่มีการสั่งซื้อจะงดรับซื้อปลา เพื่อลดภาระการให้อาหารปลา และการสูญเสียจากการตาย การลำเลียงก็ทำเช่นเดียวกับปลาทั่วไป เนื่องจากเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก และไม่มีครีบที่แหลมคม การลำเลียงโดยใส่ถุงพร้อมอัดออกซิเจน ส่งขายทางกรุงเทพ ฯ และมาเลเซีย ในปัจจุบันได้มีความพยายามในการผสมพันธุ์ปลาชนิดนี้ให้ได้มาเป็นเวลา 10 ปี โดยปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาลงในบ่อที่เตรียมไว้ก็ตาม หรือทำกระชังสำหรับให้พ่อแม่ปลาผสมกันเอง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จากการติดตามดูพฤติกรรมของปลานี้ในธรรมชาติพบว่า ปลาก้างพระร่วงน่าจะวางไข่ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน และช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปีเริ่มมีลูกปลาขนาดเล็ก หรืออย่างช้าราวเดือนมกราคม ชาวประมงสามารถรวบรวมลูกปลา และเริ่มจับมาขายได้แล้ว

ข้อควรระวัง
จากการที่ปลาก้างพระร่วงต้องอาศัยอยู่ในน้ำสะอาดที่ใสเย็น รกครึ้มด้วยร่มไม้ชายน้ำ ดังนั้นการขุดลอกคลอง เพื่อการพัฒนาใด ๆ ก็ตามที่ทำให้น้ำขุ่นเป็นตะกอน และทำลายต้นไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ ตลอดจนรากไม้ที่เป็นแหล่งหลบพักอาศัย และซ่อนตัวของปลา ย่อมเป็นการทำลายระบบนิเวศน์แหล่งที่อยู่อาศัยตลอดจนแหล่งเพาะพันธุ์ และวางไข่ในธรรมชาติ จนเป็นสาเหตุทำให้ปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำได้วิธีหนึ่ง จึงควรระมัดระวัง และให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยการกระทำการอันใดมีการศึกษาผลได้และผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น เพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนตลอดไป