อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศทำเงินรายได้เข้าประเทศปีละหลาย หมื่นล้านบาท ตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ คือโรงเพาะฟัก ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ผู้ผลิตอาหารและปัจจัยต่าง ๆ ในการผลิต จนถึงห้องเย็นหรือโรงงานแปรรูป มีผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตมากกว่า 1 ล้านคน แม้ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านการส่งออกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบันนี้ แต่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนมากประสบปัญหาการขาดทุนและเลิกกิจการ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในระยะเวลาตั้งแต่มีการปรับเปลี่ยน จากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งเป็นกุ้งที่มีการเลี้ยงและมีผลผลิตออกมามากจากทั่วโลก ทำให้มีการแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ราคาตกต่ำในขณะที่ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นจากวิกฤตราคาน้ำมัน และอาหารกุ้งที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ซื้อกุ้งรายใหญ่ที่สุดจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งหมด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเป็นแนวทางที่เหมาะ สมที่จะทำให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศไทยมั่นคงและยั่งยืน เนื่องจากประกอบด้วยหลักการที่สำคัญ 3 ส่วน คือ
1. ทางสายกลาง คือ พอเพียง พอประมาณ การเลี้ยงกุ้งที่ไม่ได้ผลตามเป้าหมายในอดีตที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก กิเลส และความต้องการที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ดูศักยภาพของตนเองว่ามีความพอเพียงอยู่ตรงไหน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องรู้จักความพอเพียง
2. มีเหตุผล การเลี้ยงกุ้งแต่ละรอบจะมีความแตกต่างกันตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เกษตรกรต้องใช้เหตุและผลทางวิชาการ ต้องรู้ว่าพื้นที่ของตนเอง ช่วงใดมีความเหมาะสมในการเลี้ยงและควรจะปล่อยลูกกุ้งมากน้อยเท่าไรจึงจะพอ เหมาะกับความรู้ความสามารถของตนเองและอุปกรณ์ที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น ถ้าจะเลี้ยงเพื่อผลิตกุ้งขนาดใหญ่ต้องปล่อยลูกกุ้งในอัตราความหนาแน่นต่ำ กว่าการเลี้ยงที่ผลิตกุ้งขนาดเล็กกว่า การเลี้ยงกุ้งด้วยน้ำความเค็มต่ำไม่สามารถเลี้ยงในอัตราความหนาแน่นเช่น เดียวกับที่เลี้ยงด้วยน้ำความเค็มปกติ
3. มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ในการเลี้ยงกุ้ง ภูมิคุ้มกันคือการป้องกันความเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงจากผลกระทบ เมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากสถานการณ์ต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) เช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ราคากุ้งที่เกษตรกรได้รับลดลง การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจากสภาวะโลกร้อน (global warming) ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกษตรกรจะลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างไร การเลี้ยงกุ้งจะต้องเพิ่มความรอบคอบมากขึ้น เกษตรกรต้องมีการพัฒนาหาความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
ที่มา rdi.ku.ac.th/kasetresearch52/01-celebrate/chalor/celebrate_00.html
ภาพโดย siamfishing.com/board/view.php?tid=17228