ชื่อไทย : ปลาหมูน่าน

ชื่อสามัญ : Black Lined Loach.

ชื่อวิทยาศาสตร์  :Yasuhikotakia nigrolineata

อาหาร : ลูกกุ้ง ตัวอ่อนแมลงน้ำ

ถิ่นอาศัย  พบปลาชนิดนี้เฉพาะลำธาร ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเท่านั้นได้แก่ ที่บริเวณแม่น้ำว้า อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

ลักษณะทั่วไป  มีรูปร่างและสีสันคล้ายคลึงปลาหมูอารีย์ (Y. sidthimunki) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน แต่ว่าปลาหมูน่านลายจะเป็นแถบยาว เมื่อปลาใหญ่ขึ้นมาลายตามยาวจะขาดเป็นท่อน ๆ และจะเกิดลายขวางเพิ่มมากขึ้น โดยที่ลายแถบของปลาหมูน่านจะมีราว 8-10 แถบ ในขณะที่ปลาหมูอารีย์ ซึ่งจะมีแค่ 5-8 แถบ ดังนั้นเมื่อมองด้วยตาเปล่าแล้วจะพบว่า ลายเส้นของปลาหมูน่านจะใหญ่และหนากว่าของปลาหมูอารีย์ อีกทั้งเมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าปลาหมูอารีย์ คือ มีความยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร

การสืบพันธุ์/การเพาะปลาหมูน่าน  ดำเนินการที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดน่าน  พ่อพันธุ์มีน้ำหนัก 1.45-1.88 กรัม ความยาว 3.5-4.5 เซนติเมตร และแม่พันธุ์น้ำหนัก 2.05-3.47 กรัม ความยาว 5.5-6.2 เซนติเมตร การเพาะพันธุ์ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอัตราความเข้มข้นต่างกัน คือ 10, 20 และ 30 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ฉีดให้แม่ปลาครั้งเดียว ชุดควบคุมฉีดด้วยน้ำกลั่น ผลการทดลองพบว่า สามารถกระตุ้นให้แม่ปลาทุกชุดการทดลองตกไข่ได้ในเวลา 14-15 ชั่วโมง หลังการฉีดฮอร์โมน ในขณะที่แม่ปลาชุดควบคุมไม่ตกไข่ โดยสรุปพบว่า มีอัตราการปฏิสนธิเฉลี่ยเท่ากับ 77.57+4.96, 78.56+2.68 และ 77.85+2.41 เปอร์เซ็นต์ อัตราการฟักเฉลี่ยเท่ากับ 75.47+0.87, 76.04+3.35 และ 76.33+4.08 เปอร์เซ็นต์ และอัตรารอดตายเฉลี่ยเท่ากับ 89.49+0.42, 89.23+1.34 และ 89.95+1.29 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า อัตราการปฏิสนธิเฉลี่ย อัตราการฟักเฉลี่ย และอัตรารอดตายเฉลี่ย ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) สำหรับการพัฒนาของคัพภะและของลูกปลาวัยอ่อน พบว่าเป็นไข่ครึ่งจมครึ่งลอย ลักษณะกลมสีขาวอมสีเหลือง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ระหว่าง 0.37+0.46 มิลลิเมตร ฟักออกเป็นตัวภายใน 12-13 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิน้ำ 26.5-28.5 องศาเซลเซียส ลูกปลามีความยาวเหยียด 3.06 มิลลิเมตร พัฒนารูปร่างเหมือนตัวเต็มวัยเมื่ออายุได้ 50 วัน หรือเมื่อมีความยาว 23.8 มิลลิเมตร
การอนุบาลลูกปลา  นำลูกปลาหมูอารีย์อายุ 6 วัน มาทดลองอนุบาลด้วยอัตราความหนาแน่นที่ต่างกันในตู้กระจกพบว่า เมื่ออนุบาลเป็นระยะเวลา 45 วัน ลูกปลาที่อนุบาลในอัตราความหนาแน่น 500, 750 และ 1,000 ตัวต่อตารางเมตร มีน้ำหนักและความยาวเฉลี่ยเท่ากับ 0.833+0.012, 0.765+0.099, 0.823+0.012 มิลลิกรัม และ 18.3+0.1, 18.1+0.7, 18.4+0.2 มิลลิเมตร อัตรารอดตายเฉลี่ยเท่ากับ 93.60+0.98, 93.48+0.93 และ 92.18+1.32 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า น้ำหนักเฉลี่ย ความยาวเฉลี่ย และอัตรารอดตายเฉลี่ยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ