ทรงพรรณ  ล้ำเลิศเดชา

    สารพิษที่เชื้อราผลิตขึ้นและเป็นที่รู้จักกันดีคือ อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) สารพิษชนิดนี้ผลิตโดยเชื้อราสกุล Aspergillus ซึ่งสามารถเจริญเติบโตและผลิตสารพิษได้ในพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง เป็นต้น รวมทั้งสามารถเจริญเติบโตได้ในอาหารสัตว์ชนิดต่างๆซึ่งรวมถึงอาหารสัตว์น้ำ ด้วย เมื่ออยู่ในสภาพเหมาะสมที่เชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีได้แก่อุณหภูมิอาหาร เหมาะสม (คาร์โบไฮเดรท;แป้ง) ความชื้นอาหาร (มากกว่า 14%) ความชื้นในอากาศ (มากกว่า 70%) และปริมาณออกซิเจน ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม ในการเจริญเติบโตของเชื้อราชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี

   สารพิษชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันมากเนื่องจากมีความเป็นพิษสูง ถึงแม้ว่าจะได้รับในความเข้มข้นต่ำและยังเป็นสารก่อมะเร็งด้วย เมื่อสัตว์ได้รับอะฟลาท็อกซินเข้าไปจะมีอาการดังนี้ คือการเจริญเติบโตช้า ตับถูกทำลาย เลือดแข็งตัวช้า มีอาการช้ำเลือดได้ง่าย ภูมิคุ้มกันลดลงและมีอัตราการตายสูง ความเป็นพิษของอะฟลาท็อกซินขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารอะฟลาท็อกซิน ชนิดของสัตว์ อายุของสัตว์ ในสัตว์น้ำพบว่าปลาเรนโบว์เทราส์เป็นปลาที่ไวต่อการได้รับสารพิษชนิดนี้ที่สุด โดย Dr.John Halver และคณะแห่ง U.S. Fish and Wildlife Laboratory (Washington State) พบว่าเมื่อให้อาหารที่มีการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซินเพียง 0.5 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb) แก่ปลาเรนโบว์เทราส์เป็นเวลา 20 เดือนทำให้เกิดมะเร็งในตับ ซึ่งก่อนหน้าการทดลองนี้ ได้เกิดปัญหาในโรงอนุบาลลูกปลาเทราส์ ของเอกชนที่ให้ลูกปลากินอาหาร ที่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน แล้วพบว่าลูกปลามีการเจริญเติบโตช้า และพบเนื้องอกในตับ

   ต่อมาเมื่อเปลี่ยนอาหารทำให้อาการเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ในปลาชนิดที่อยู่ในน้ำอุ่น จะมีความทนทานต่อพิษของอะฟลาท็อกซินมากกว่า ปลาชนิดที่อยู่ในน้ำเย็นประมาณ 30 เท่า เช่นปลากดหลวง (Channel catfish) ต้องได้รับอาหารที่มีการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินถึง 10 ส่วนในล้านส่วน(ppm)เป็นเวลา 10 อาทิตย์ จึงจะพบว่ามีอาการการเจริญเติบโตช้า ปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง และปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น พบเซลล์ตายในตับและกระเพาะอาหาร มีการสะสมของเหล็กในทางเดินอาหาร มีเลือดออกที่กระเพาะอาหาร ฟูมอนิซิน (Fumonisin) เป็นสารพิษที่ผลิตขึ้นโดยเชื้อราสกุล Fusarium ซึ่งเป็นเชื้อราที่สามารถเจริญเติบโตได้ในผลผลิตทางการเกษตรทั่วไป โดยเฉพาะข้าวโพด

   สารพิษชนิดนี้มีความเป็นพิษที่รุนแรงมากโดยเฉพาะในสัตว์จำพวกม้า และหมู เมื่อม้าบริโภคข้าวโพด ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อราชนิดนี้ในธรรมชาติ โดยผู้เลี้ยงไม่รู้ ทำให้ม้าเกิดอาการเสียการทรงตัว ขากรรไกรค้าง และจะตายภายในไม่กี่วันหลังจากปรากฎอาการ

ในสมัยก่อนไม่มีใครทราบสาเหตุของการตายที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากนี้บริเวณที่พบว่า ข้าวโพดมีการปนเปื้อนเชื้อราชนิดนี้สูง จะมีอัตราการเป็นมะเร็ง ในหลอดอาหารของคน สูงตามไปด้วย ทั้งในสาธารณรัฐประชาชนจีน และอาฟริกาใต้ ในปลาได้มีการทดลองในปลากดหลวงหลายครั้ง พบว่าลูกปลาขนาด 1 กรัม เมื่อบริโภคอาหาร ที่มีการปนเปื้อนเชื้อราชนิดนี้เพียง 20 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ ทำให้ปลามีอาการเจริญเติบโตช้า ตับทำงานได้ไม่ปกติ มีการสะสมของเม็ดไขมันในตับเซลล์ ตับตาย แต่ไม่พบอาการผิดปกติทางสมอง ถึงแม้ว่าจะได้รับสารพิษเป็นปริมาณสูง ในปลาขนาดใหญ่ที่ได้รับสารพิษชนิดนี้ที่ความเข้มข้น 80 ppm ก็จะปรากฏอาการเช่นเดียวกัน

   นอกจากนั้นยังทำให้ปลามีภูมิต้านโรคต่ำ อ่อนแอ สามารถติดโรคได้โดยง่าย และเมื่อได้รับเชื้อโรคทำให้มีอัตราการตายสูง เกษตรกรสามารถป้องกันการเกิดหรือพยายามลดการเกิดสารพิษที่ผลิตจากเชื้อรา ทั้งสองชนิดนี้ได้โดย

1.เก็บอาหารสัตว์น้ำไว้ในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก 2.พยายามอย่าให้อาหารถูกน้ำ

3.ไม่ทับหรือซ้อนถุงอาหารหลายชั้นและหลายแถว ควรมีช่องว่างระหว่างแถว

4.พยายามไม่ใช้อาหารที่เก็บไว้นานจนเกินไป

5.ไม่ควรนำอาหารไปตากแดดเพราะจะทำให้วิตามินบางชนิดสลายตัวได้ และสารพิษทั้งสองชนิดนี้ไม่สลายตัว เมื่อได้รับความร้อน เกษตรกรที่ผลิตอาหารเอง ควรเลือกซื้อวัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร โดยพยายามเลือกวัตถุดิบ ที่มีการปนเปื้อนน้อย ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในขั้นแรก หรือหากสงสัย สามารถนำไปทำการตรวจสอบได้ ตามห้องปฎิบัติการของเอกชน หรือของทางราชการก่อนนำมาใช้