ปลาแฟนซีคาร์ป (Fancy carp) หรือที่เรียกกันว่าปลาไนแฟนซี ปลาไนสี หรือปลาไนทรงเครื่อง เป็นปลาน้ำจืดในกลุ่มปลาตะเพียน (carp) ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า โคย (Koi) หรือ นิชิกิกอย (Nishikigoi) เดิมทีเป็นปลาไนชนิดธรรมดา ซึ่งเป็นน้ำจืดที่พบอยู่ทุกหนทุกแห่งในโลก บริเวณที่ถือว่าเป็นแหล่งดั้งเดิมจริง ๆ ของปลาไนคือ ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ชาวจีนเป็นชนกลุ่มแรกที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปลาไนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว สำหรับประเทศญี่ปุ่น ตามหลักฐานตามประวัติศาสตร์ชิ้นแรกที่มีอยู่เกี่ยวกับ Koi นั้นได้
เขียนขึ้นเมื่อประมาณสองร้อยปีหลังคริสต์ศตวรรษ หลักฐานดังกล่าวได้เล่าถึงปลาชนิดนี้ว่ามีสีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ปลาเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงไว้สำหรับดูเล่น
สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มมีการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ป ซึ่งนำมาจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2493 จากนั้นก็มีผู้สั่งปลาเข้ามาเลี้ยงกันมากมายในราคาที่ค่อนข้างสูงได้มีการศึกษาและทดลองเพาะพันธุ์จนประสบความสำเร็จ ยังผลให้การสั่งเข้าปลาแฟนซีคาร์ปลดลง และปลาในประเทศที่มีคุณภาพดีได้รับความนิยมมากขึ้นจนแพร่หลายดังเช่นปัจจุบัน
ปลาแฟนซีคาร์ปจะผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูกาลที่แตกต่างกันแล้วแต่สถานที่ที่ปลาอาศัยอยู่ ฤดูวางไข่ของปลาเหล่านี้ในประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศอบอุ่น ส่วนในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงฤดูหนาว ปลาจะไม่เจริญเติบโตและไม่สืบพันธุ์ สำหรับประเทศไทยนั้นปลาแฟนซีคาร์ปสามารถวางไข่ได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งพ่อแม่ปลามีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ จำเป็นต้องทราบว่าปลาแฟนซีคาร์ปมีความแตกต่างระหว่างเพศอย่างไร กล่าวคือโดยทั่วไปปลาเพศเมียจะมีความกว้างของลำตัวมากกว่าปลาเพศผู้ บริเวณส่วนท้องจะใหญ่ นิ่ม ช่วงหัวจะกลมและป้านกว่าเพศผู้ ในฤดูสืบพันธุ์ปลาเพศเมียที่มีไข่แก่สมบูรณ์ จะมีส่วนท้องขยายกว้างใหญ่ออกจนเกือบจะเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อจับหงายท้องดูที่ช่องเพศจะสังเกตเห็นช่องเพศใหญ่และนูนออกเป็น
รูปกลม ส่วนปลาเพศผู้ช่องเพศมีลักษณะเล็กเรียว และเว้าเข้าข้างในเล็กน้อย เมื่อจับรีดท้องเพียงเบา ๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมา และเมื่อเอามือลูบบริเวณแก้มหรือครีบหูจะรู้สึกสาก ๆ ในประเทศไทย
ปลาแฟนซีคาร์ปที่จะนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ควรมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
หลักการคัดเลือกปลาแฟนซีคาร์ปเพื่อนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ควรคัดจากปลาที่อยู่ในกลุ่มสีเดียวกันหรือต่างกันในกรณีที่ต้องการให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ พ่อแม่พันธุ์จะต้องมีรูปร่างที่ถูกลักษณะ สมบูรณ์ไม่พิการ มีสีและลวดลายที่เด่นชัด เนื่องจากสายพันธุ์ที่ดีจะมีโอกาสให้กำเนิดลูกปลาที่ดีและสวยงามในเปอร์เซ็นต์สูงกว่าปลาที่สายพันธุ์ไม่ได้