ปลาทับทิม มีต้นกำเนิดสายพันธุ์ดั้งเดิมมาจากปลานิล แต่พัฒนาพันธุ์ด้วยแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ให้พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดา ซึ่งทรงได้รับจากมงกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น เมื่อปีพุทธศักราช 2508 ให้มีลักษณะต่าง ๆ ที่ดีขึ้น ทั้งด้านการเจริญเติบโต คุณภาพเนื้อ เพื่อให้เกิดประโยชน์แพร่หลายมากยิ่งขึ้น แก่พสกนิกทั่วไป
เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยกลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงเริ่มวางโครงการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดาตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2532 โดยคัดเลือกสายพันธุ์ปลาในตระกูลเดียวกันจากทั่วโลก ที่มีลักษณะเด่นมากในด้านต่างๆ
มีสายพันธุ์หลักมาจากอเมริกา อิสราเอลและสายพันธุ์จากไต้หวัน นำมาผสมเข้าพันธุ์กันแล้วคัดเลือกลักษณะเด่นที่ต้องการโดยมีวัตถุประสงค์มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจสูง เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพได้ ปรากฏว่าได้ปลาเนื้อที่มีลักษณะเด่น 9 ประการ คือ
1. อัตราการเจริญเติบโตเร็วมาก
2. ปริมาณกล้ามเนื้อบริโภคได้ต่อน้ำหนักสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนสันหนามาก
3. ส่วนหัวเล็ก โครงกระดูกเล็ก ก้างน้อย
4. เส้นใยกล้ามเนื้อละเอียด แน่น จึงมีรสชาติดี
5. ปราศจากกลิ่นที่เกิดจากไขมันในตัวปลา
6. เจริญเติบโตได้ในน้ำเค็มสูงถึง 25 ppt
7. สามารถเลี้ยงในกระชังในอัตราความหนาแน่นสูงได้โดยไม่มีผลเสียต่อปลา ให้ผลผลิตเฉลี่ย 40 กิโลกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร
8. กินอาหารเก่ง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี และมีความต้านทานต่อโลกสัตว์น้ำต่างๆ ได้ดี
9. ผิวมีสีแดงส้มอมชมพู เนื้อทุกส่วนมีสีขาว ทำให้น่ารับประทาน
“ปลาทับทิม”ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อวันที่ 22 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2541
จากพันธุ์ปลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทดลองขยายพันธุ์ และพระราชทานสู่แหล่งน้ำสาธารณะเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีแหล่งโปรตีนอาหารธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน วันนี้ ปลานิล ได้กลายเป็นอาหารโปรตีนราคาถูกของคนไทยทั่วประเทศต่อจากนั้น ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ การพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์การปรับปรุงคุณภาพน้ำจากฟาร์มกุ้งกุลาดำ ทำให้เกิดปลาสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับชื่อพระราชทานอันเป็นมงคลว่า “ปลาทับทิม”เป็นปลาเนื้อเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สร้างชื่อเสียง และนำมาซึ่งรายได้ให้กับประเทศไทยอยู่ในขณะนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีแนวพระราชดำริในการที่จะนำปลานิลมาใช้ประโยชน์ในการกรองกินธาตุอาหารที่หลงเหลือจากฟาร์มมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เพื่อประโยชน์ในการรักษาสมดุลธรรมชาติและสภาพแวดล้อม จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้เครือเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาสายพันธุ์ปลานิล จิตรลดา ให้สามารถเลี้ยงในน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มได้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้น้อมเกล้าฯ รับแนวพระราชดำริพร้อม ทั้งนำพันธุ์ปลานิลจิตรดาที่ได้รับพระราชทาน ไปพัฒนาโดยการสรรหาสายพันธุ์ปลา Tilapia อีกหลากหลายสายพันธุ์จากทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และไต้หวัน แล้วคัดเลือก
ลักษณะเด่นที่ต้องการไว้มาผสมข้ามพันธุ์ตามหลักพันธุกรรมศาสตร์ด้วยวิธีการธรรมชาติกับปลาชนิดเดียวกันได้ปลาสายพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นหลายประการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า ปลาทับทิม นอกเหนือจากการพัฒนาสายพันธุ์ปลาเพื่อใช้ประโยชน์ ในการรักษาสภาพแวดล้อมจากการเลี้ยงกุ้งแล้ว ด้วยคุณลักษณะเด่นของปลาทับทิมที่มีเนื้อมาก โตไว เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้น้อมเกล้าฯ รับแนวพระราชดำริ จะพัฒนาเป็นปลาเนื้อเศรษฐกิจที่เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพได้ จนกระทั่งที่ได้ปลาทับทิมที่มีลักษณะภายนอก ส่วนหัว และโครงกระดูกเล็ก ก้างน้อย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังมีมาตรการ ด้านการตลาดมารองรับผลผลิต จากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิม โดยดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ ปลาทับทิมสด และปลาทับทิมเป็นปัจจุบัน ปลาทับทิมเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งจากลักษณะเด่น ที่มีผิวสีแดงอมชมพูอันเป็นสีมงคล เนื้อสีขาว หนา เส้นใยกล้ามเนื้อละเอียดแน่นและนุ่ม ก้างน้อย ไม่มีกลิ่นคาวอันเกิดจากไขมันปลา ปราศจากกลิ่นโคลน มีความหอมหวานในตัว นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เดินตามเบื้องพระยุคลบาท ของพระผู้ซึ่งสถิตย์อยู่ในดวงใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน ที่มา:http://cdo.cpportal.net./