การใช้คลอรีนในการเลี้ยงกุ้ง
พรเลิศ จันทร์รัชชกูล
การเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่นในปัจจุบันประสบกับปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณสมบัติต่างๆ ของน้ำ และสภาพอากาศที่แปรปรวน คุณภาพของลูกกุ้ง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กุ้งอ่อนแอ และเป็นโรคตายในที่สุด ทำให้การเลี้ยงกุ้งได้ผลผลิตน้อยลง หรืออาจทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งสูงมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจะต้องเพิ่มการจัดการต่างๆเข้าไป เพื่อควบคุมหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งได้ผลผลิตดีก็คือ กุ้งในบ่อจะต้องมีอัตราการรอดตายสูงตลอดช่วงของการเลี้ยง
ซึ่งหมายความว่า ลูกกุ้งจะต้องมีความแข็งแรง จะต้องมีการเตรียมบ่ออย่างดี และมีการจัดการอย่างถูกต้องตลอดช่วงของการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งทำให้โอกาสที่กุ้งจะเป็นโรคต่างๆนั้นน้อยลง ส่งผลให้กุ้งมีอัตรารอดสูง จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านมาทำให้พอที่จะสรุปปัญหาหลัก ๆ ของการเลี้ยงกุ้งในปัจจุบันได้ 3 ประการ คือ
1. ลูกกุ้งมีอัตรารอดต่ำ
2. คุณภาพน้ำแปรปรวนทำให้จัดการยาก
3. ปัญหาพื้นบ่อเน่าเสีย
จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องการจัดการคุณภาพน้ำและพื้น บ่อเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลี้ยงช่วงกลางหรือหลังจากปล่อยกุ้งไป แล้วพอสมควร การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับแหล่งที่ทำการเลี้ยงกุ้ง ส่วนปัญหาเรื่องลูกกุ้งมีอัตรารอดตายต่ำนั้นนับได้ว่าเป็นปัญหาเริ่มแรกที่ เกิดขึ้น และมีความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อลูกกุ้งมีอัตรารอดตายสูงแล้วจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและได้ เปรียบมาก เกษตรกรไม่จำเป็นจะต้องเสี่ยงเลี้ยงกุ้งเป็นเวลานานๆให้ได้ขนาดใหญ่เพื่อ เพิ่มผลผลิตชดเชยกับปริมาณกุ้งที่เสียหายไป
ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้ลูกกุ้งมีอัตรารอดตายต่ำประการหนึ่งก็คือ มีศัตรูกุ้งเจริญอยู่ในบ่อมากในช่วงแรกๆ ของการเลี้ยง ศัตรูดังกล่าวได้แก่พวก ลูกกุ้งชนิดอื่นๆ ลูกปลา ปู หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังต่างๆ ซึ่งจะไปแย่งอาหารลูกกุ้งที่เพิ่งปล่อยลงไปใหม่
การป้องกันปัญหาดังกล่าวสามารถทำได้สองวิธีคือ
1. การใช้อวนตาถี่กรองน้ำที่นำเข้าบ่อ วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันมานานโดยปกติจะใช้อวนพลาสติกสีฟ้าขนาดตาถี่ตั้งแต่ 20-24 ช่องต่อนิ้ว ในบางแห่งอาจใช้อวนขึง 2 ชั้นเพื่อให้การกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้น การกรองน้ำเข้าบ่อนี้ได้ผลดีพอสมควร เพราะสามารถกรองตัวอ่อนของสัตว์น้ำได้ แต่ไม่สามารถกันพวกไข่ของสัตว์น้ำต่างๆ ที่มีขนาดเล็กมากๆได้
2. การใช้สารเคมี เป็นวิธีการใหม่ที่นิยมปฎิบัติกันมากในปัจจุบัน โดยวิธีดังกล่าวนี้ได้ผลดีมาก สารเคมีที่นิยมใช้คือ คลอรีนผง (แคลเซียมไฮโปรคลอไรท์ 60%) การเตรียมน้ำวิธีดังกล่าวทำได้โดย เติมน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับเท่าที่ต้องการทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้ไข่ของสัตว์น้ำต่างๆ เจริญออกมาเป็นตัวอ่อนก่อน
จากนั้นใช้คลอรีนผงสาดให้ทั่วบ่อในอัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ (ที่ระดับน้ำลึก 1.5 เมตร) หรือความเข้มข้นประมาณ 7.5-12.5 ส่วนในล้านส่วน น้ำจะใสขึ้นหลังจากลงคลอรีน ช่วงเวลาที่ควรจะใช้คลอรีนควรเป็นเวลาเย็นที่ไม่มีแสงแดดแล้ว ซึ่งคลอรีนจะสลายตัวช้าลง ควรเปิดเครื่องให้อากาศตลอดเวลา เพื่อให้คลอรีนกระจายทั่วบ่อ หลังจากใช้คลอรีน 3-4 วัน น้ำจะเริ่มมีสีเขียวเกิดขึ้น จึงเริ่มใส่ปูนและปุ๋ยเพื่อเตรียมสีน้ำต่อไป
วิธีดังกล่าวนี้จะไม่ได้ผล ถ้ามีการเติมน้ำใหม่เข้าบ่อ เนื่องจากจะมีพวกศัตรูต่างๆ หลุดเข้าไปในบ่ออีก ดังนั้นในช่วง 1-30 วัน หลังจากเตรียมบ่อไม่ควรมีการเติมน้ำเข้าบ่อเด็ดขาด ในกรณีที่ทำสีน้ำยากมากอาจมีการเติมน้ำจากบ่อข้างๆ ที่มีแพลงค์ตอนเจริญอย่างหนาแน่นมาช่วยได้แต่ควรจะเลือกใช้น้ำจากบ่อที่มี ศัตรูกุ้งน้อยที่สุด ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าคลอรีนที่ใส่ลงในบ่อสลายตัวหมดหรือไม่ อาจทำการตรวจสอบได้โดยใช้โปรแตส-เซียมไอโอไดน์ 2-3 เกล็ดใส่ลงในน้ำ ซึ่งถ้ามีคลอรีนเหลืออยู่น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
การกำจัดคลอรีนที่หลงเหลืออยู่ในบ่ออาจทำได้โดยการใช้โซเดียมไธโอซัลเฟตเติมลงในบ่อประมาณ 20 กิโลกรัม/ไร่ หรือประมาณ 10 ส่วนในล้านส่วน อนึ่งการใช้คลอรีนในบ่อกุ้งนั้นควรจะใช้ในช่วงของการเตรียมบ่อเท่านั้น และควรจะล้างทำความสะอาดบ่อให้ดีก่อนใช้ เพื่อให้คลอรีนออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้นและไม่ควรใช้คลอรีนขณะที่มีกุ้งอยู่ในบ่อ เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อกุ้งได้