การเพาะเลี้ยงปลากัดในหน้าหนาวกันต่อนะครับ ตามที่เคยเล่าไปแล้วในตอนก่อนนะครับว่า อากาศหนาวหรือน้ำเย็นยังไม่น่ากลัวสำหรับปลากัด แต่เดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน อุณหภูมิสวิงมาก ๆ ในระหว่างวันต่างหากที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นสถานที่เพาะเลี้ยงที่ดีที่สุดสำหรับในช่วงฤดูหนาวนี้คือบริเวณที่ อยู่ในร่ม ยิ่งอยู่ในห้องที่สามารถปิดมิดชิดได้ก็จะยิ่งดี.. เพราะจะช่วยขจัดปัญหาโดนลมโกรกทำให้เย็นยะเยือกในช่วงกลางคืน และไม่สัมผัสไอแดดโดยตรงในช่วงกลางวัน
ภาชนะที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการเปลี่ยน แปลงอุณหภูมิในระหว่างวันได้ กล่องโฟมดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการเพาะปลากัดในหน้าหนาว เพราะกล่องโฟมจะทำให้อุณหภูมิภายในนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ นอกจากนั้นกล่องโฟมยังมีฝาปิด ก็ยังช่วยลดปัญหาเรื่องแดดส่องในเวลากลางวัน และลมโกรกในเวลากลางคืนเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ดีก็หมั่นเปิดฝามันบ้างนะครับ เพื่ออากาศภายในกล่องโฟมจะได้ถ่ายเทบ้าง
มีบางท่านถามมาว่า แล้วถ้าปกติเพาะปลาอยู่ในรองปูนหรืออ่างบัว และอ่างยังตั้งอยู่ในที่กลางแจ้งอีกด้วยอย่างนี้จะทำอย่างไรดี.. ก็ขอตอบว่าต้องทำใจครับ 555 (ล้อเล่นครับ.. แต่เรื่องจริง เหอ.. เหอ..) เพราะถือว่าฮวงจุ้ยของสถานที่เพาะปลาของคุณนั้นมันชงกับฤดูหนาว จากนี้ไปจนถึงช่วงปลายมกราดวงคุณจะเพาะปลาไม่ค่อยขึ้น เพาะได้แต่สุดท้ายก็จะร่วงมาก.. แต่.. ทางแก้มันก็พอมีนะครับ ผมเคยได้ยินว่ามีบางฟาร์มหาผ้าใบหนา ๆ ไปห่อคลุมอ่างหรือรองปูนไว้ ซึ่งหลักการก็คือเพื่อให้ความร้อนหรือความเย็นจากภายนอกแทรกซึมเข้าไปยังบ่อ เพาะอย่างช้า ๆ คล้าย ๆ กับคอนเซปต์ของกล่องโฟมนั่นเอง
มีบางท่านถามถึงปลาที่เลี้ยงอยู่ในเหลี่ยมล่ะ? ควรทำอย่างไรดี? สำหรับช่วงหน้าหนาวนี้ท่านที่เลี้ยงปลาในเหลี่ยมเล็ก ๆ ต้องพึงระวังนะครับ เพราะปลาของท่านมีโอกาสป่วยได้ง่าย เพราะเหลี่ยมเล็ก น้ำมันก็น้อย ดังนั้นอุณหภูมิมันจึงเปลี่ยนแปลงง่ายในระหว่างวัน ถ้ามีกล่องโฟมเหลือ ๆ อีกทางเลือกนึงคือเอาพวกเหลี่ยมเล็ก ๆ ของท่านมาใส่รวมกันไว้ในกล่องโฟม อันนี้ก็พอช่วยแก้ปัญหาเรื่องอุณหภูมิได้นะครับ..
และที่อยากฝากไว้อีกเรื่องหนึ่งคือในเรื่องของการเปลี่ยนน้ำนะครับ สำหรับในหน้าหนาวนี้ ทุกครั้งก่อนเปลี่ยนน้ำอยากให้ตรวจเช็คอุณหภูมิเดิมของน้ำในเหลี่ยม กับอุณหภูมิของน้ำใหม่ที่เรากักไว้ ไม่ต้องถึงขนาดไปหาเทอร์โมมิเตอร์มาวัดหรอกนะครับ ใช้ความรู้สึกจากมือเราก็ได้ อย่าให้อุณหภูมิระหว่างน้ำใหม่กับน้ำเก่ามันต่างกันมากนะครับ มิฉะนั้นการเปลี่ยนน้ำของท่านแทนที่จะทำให้ปลาของท่านสดชื่นแข็งแรง อาจกลับกลายทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้นะครับ..
เอาล่ะครับ.. สำหรับเทคนิคการเพาะเลี้ยงปลากัดในหน้าหนาวก็คงจบลงเพียงเท่านี้ เดี๋ยวถ้านึกอะไรออกก็อาจจะนำมาเพิ่มเติมให้ในโอกาสต่อ ๆ ไปนะครับ เทคนิคส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเบสิคพื้นฐานนะครับ สำหรับมือเก่าทั้งหลายก็อาจจะรู้กันดีอยู่แล้ว หรืออาจจะรู้ดีกว่านี้ด้วยซ้ำ (ยังไงว่าง ๆ ก็มาแบ่งปันเพื่อน ๆ น้อง ๆ บ้างนะครับ) แต่ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ มือใหม่ที่เพิ่งจะพบกับหน้าหนาวครั้งแรกในชีวิตการเพาะเลี้ยงปลากัด ยังไงก็ขอให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นหน้าหนาวนี้ไปได้ด้วยดีนะครับ