อาร์ทีเมีย (Artemia) หรือ ไรน้ำเค็ม (Brine shrimp) เป็นสัตว์น้ำเค็มชนิดหนึ่งที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีข้อ-ปล้อง สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงความเค็มกว้าง (ความเค็ม 70–170 ppt) เป็นสัตว์ในกลุ่มครัสเตเซีย (Crustacea) เช่นเดียวกับพวกกุ้ง ปู กั้ง แต่ไรน้ำเค็มไม่มีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว มีเพียงเนื้อเยื่อบางๆ เท่านั้นที่หุ้มลำตัว ว่ายน้ำเคลื่อนในลักษณะหงายท้อง มีรูปร่างแบนเรียวคล้ายใบไม้ กินอาหารโดยการกรอง (filter feeding) โดยจะกรองกินอาหารและทุกสิ่งทุกอย่างในน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าช่องปาก (ขนาดของช่องปากประมาณ 20-60 ไมครอน) เข้าไป
ในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกนิยมใช้ไร น้ำเค็มเป็นอาหารในการเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากไรน้ำเค็ม มีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ ดังนี้
– มีคุณค่าทางอาหารเหมาะสม
– มีความอ่อนนุ่มไม่มีกระดูกและไม่มีเปลือกแข็งหุ้มตัว
– มีการขยายพันธุ์และเจริญเติบโตเร็วขนาดเหมาะสม
– ช่วยในกระบวนการบำบัดฟื้นฟูคุณภาพน้ำ เนื่องจากไรน้ำเค็มกินอาหารโดยการกรองสิ่งแขวนลอยต่าง ๆ ในน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าช่องปาก เช่น พวกจุลินทรีย์ แพลงก์ตอน (Plankton)ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ (Detritus) ตลอดจนพวกอนุภาคอินทรีย์สาร (Organic particles)
– มีความสะดวกต่อการจัดการ ในขณะที่ตัวอ่อนของไรน้ำเค็มมีเกราะหุ้ม (cysts) สามารถเก็บรักษาให้มีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลาหลายปี เมื่อต้องการใช้ก็นำมาเพาะฟักให้ออกเป็นตัวแล้วสามารถนำมาให้เป็นอาหาร สัตว์น้ำได้ตามที่ต้องการ
ส่วนไรน้ำเค็มขนาดโตเต็มวัย นอกจากจะใช้ตัวไรน้ำเค็มให้เป็นอาหารสัตว์น้ำโดยตรงแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีนสูงชนิด ต่างๆ หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่
-ไรน้ำเค็มแช่แข็ง (Frozen Artemia)
-ไรน้ำเค็มผง (Artemia Powder)
-ไรน้ำเค็มแผ่น (Artemia Flake)
การเพาะเลี้ยงไรน้ำเค็มในบ่อดิน
1. การเตรียมบ่อ: ใช้บ่อขนาด 1-6 ไร่ ความลึกประมาณ 1 เมตร โดยมักจะขุดบ่อให้มีความยาวไปตามทิศทางลม
2. การเตรียมน้ำ: น้ำที่ใช้ควรมีความเค็มระหว่าง 80-120 ppt pH อยู่ระหว่าง 8.0-9.0
3. การปล่อยไรน้ำเค็มลงบ่อ: ปล่อยไรน้ำเค็มตัวเต็มวัยประมาณ 6 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าใช้ไข่มาฟักเพื่อปล่อยไรน้ำเค็มตัวอ่อน จะต้องใช้ไข่ประมาณ 150-200 กรัมต่อไร่
4. การให้อาหาร: ทำบ่อหมักอาหารต่างหาก โดยจะใส่อาหารลงบ่อหมักให้เน่าเกิดแพลงก์ตอน แล้วจึงทยอยสูบไปลงบ่อเลี้ยง ใช้เรือคราดอาหารที่พื้นก้นบ่อให้ฟุ้งกระจายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-3 ครั้ง และทำคอกไว้มุมบ่อสำหรับหมักหญ้าและเศษพืช เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติมากขึ้น
5. การเก็บเกี่ยวผลผลิต: เมื่อปล่อยลงเลี้ยงไปประมาณ 15 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้โดยเปิดกังหันตีน้ำรอบช้า พัดพาไรน้ำเค็มเข้าโพงพาง ทำการลำเลียงในสภาพสด บรรจุลงถุงพลาสติกและนำไปแช่แข็ง