ปะการังเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่มีหินปูนเป็นโครงร่างแข็งที่เปรียบเสมือนกระดูก หินปูนที่ว่านี้เป็นส่วนที่รองรับเนื้อเยื่อตัวปะการัง ตัวปะการังมีรูปทรงเป็นกระบอกเล็กๆ ที่ปลายกระบอกมีหนวดที่คอยโบกสะพัดจับอาหารที่เป็นแพลงตอนในน้ำ อาหารที่ปะการังใช้ในการดำรงชีพส่วนหนึ่งยังมาจากสารอาหารที่สาหร่ายสร้าง ขึ้น สาหร่ายที่ว่านี้โดยทั่วไปเรียกว่าซูแซนเทลลี่ (zooxanthellae) เป็นสาหร่ายเซลเดียว (single cell algae) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อตัวปะการัง

สาหร่ายนี้ อยู่ร่วมกับปะการังโดยใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยปะการังให้สาหร่ายเป็นที่อยู่อาศัย ของเสียเช่นก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่เกิดจากขบวนการหายใจของปะการัง
และของเสียจากอาหารที่ย่อยแล้วสาหร่ายก็สามารถนำไปใช้ในการปรุงอาหารได้

 

หากสังเกตตามผิวหินปูนปะการัง จะเห็นช่องที่เป็นที่ฝังตัวของตัวปะการัง ซึ่งอาจจะเป็นช่องเล็กๆ เพียง 1 มิลลิเมตร จนใหญ่ขนาด
2-3 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด ลักษณะช่องอาจจะเป็นช่องกลมๆ รีๆ เป็นเหลี่ยม หรืออาจเป็นร่องยาวๆก็ได้ ช่องที่ว่านี้เป็นที่อยู่
ของปะการังแต่ละตัวหรือหลายตัวในกรณีที่เป็นร่องยาว ดังนั้นจะเห็นว่าในปะการังหนึ่งก้อน หนึ่งกอ หรือหนึ่งแผ่น ประกอบขึ้นด้วย
ตัวปะการังจำนวนมาก โดยมีเนื้อเยื่อเชื่อมติดกัน ดังที่เรียกกันว่า “ปะการังอยู่กันเป็นกลุ่ม (colony)”

 

ตัวปะการังจำนวน มากประกอบขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อนเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการัง ซึ่งก็คือการแบ่งตัวขยายพันธุ์แบบ “cloning” นั่นเอง แต่ก็มีปะการังอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีจำนวนชนิดไม่มากนักที่ในหนึ่งก้อนประกอบ ขึ้นด้วยตัวปะการังเพียงตัวเดียว กล่าวคือ เป็นปะการังประเภท “อยู่แบบเดี่ยว (solitary)” ตัวอย่าง เช่น ปะการังดอกเห็ด (Mushroom coral)