เสือโคร่ง

เสือโคร่งเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เสือโคร่งตัวที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักตัวถึงเกือบ 500 กก. ลำตัวมีสีเหลืองแดงหรือสีขมิ้น มีแถบสีดำหรือน้ำตาลพาดตามลำตัวตลอดในแนวตั้ง บริเวณหน้าอก ส่วนท้องและด้านในของขาทั้งสี่มีสีขาวครีม บางตัวอาจมีสีออกเหลือง มีกระบอกปากค่อนข้างยาว บริเวณจมูกมีสีชมพู ในบางตัวอาจมีสีดำปะปนเป็นแต้ม ๆ ม่านตาสีเหลือง รูม่านตากลม หูสั้นและกลม หลังหูมีสีดำและมีแต้มสีขาวเด่นชัดอยู่กลางใบหู ขาหน้าของเสือโคร่งจะบึกบึนและแข็งแรงกว่าขาหลัง ฝ่าตีนกว้าง หางยาวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว ปลายหางเรียว ลายดำที่หางมีลักษณะทั้งริ้วและปล้องปนกัน ปลายหางมักจะเป็นสีดำ เสือโคร่งใช้หางช่วยรักษาสมดุลย์ของร่างกายขณะหันตัวอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ยังใช้ในการสื่อสารกับเสือตัวอื่นด้วย ตีนหน้าของเสือโคร่งจะมีนิ้วอยู่ข้างละ 5 นิ้ว ส่วนตีนหลังมีข้างละ 4 นิ้ว เล็บสามารถหดเก็บไว้ในอุ้งได้ ทำให้สามารถเดินได้อย่างเงียบกริบ
เสือโคร่งมีชนิดย่อย 8 ชนิดย่อย ดังนี้
ชื่อพันธุ์ | ชื่อวิทยาศาสตร์ | เขตกระจายพันธุ์ |
---|---|---|
เบงกอล | P.t. tigris | คาบสมุทรเบงกอล |
แคสเปียน | P.t. virgata | แถบประเทศตุรกี อาฟกานิสถาน อิหร่าน จีนตะวันตก รัสเซีย เตอร์กิสถาน |
ไซบีเรีย | P.t. altaica | ลุ่มแม่น้ำอะมูร์ในรัสเซีย ตอนเหนือของประเทศจีน และเกาหลีเหนือ |
ชวา | P.t. sondaica | เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย |
จีนใต้ | P.t. amoyensis | ประเทศจีนตอนใต้ |
บาหลี | P.t. balica | อยู่ในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย |
สุมาตรา | P.t. sumatrae | เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย |
อินโดจีน | P.t. corbetti | คาบสมุทรอินโดจีน |
มลายู | P.t. jacksoni | ตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู |
เสือโคร่งหากินในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่และมักจะเป็นช่วงหัวค่ำและเช้า มืด เสือโคร่งมักใช้สายตาและการรับฟังช่วยในการล่ามากกว่าการรับกลิ่น อาหารส่วนใหญ่ของเสือโคร่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กระทิง วัว กวาง เลียงผา แอนติโลป ควาย เก้ง และหมูป่า บางครั้งก็อาจล่าลูกช้างหรือลูกแรดได้ ในภาวะอาหารขาดแคลน เสือโคร่งก็อาจล่าสัตว์เล็กอย่างลิง นก ปลา หรือสัตว์เลื้อยคลาน บ้างเช่นกัน
เสือโคร่งตัวหนึ่งกินอาหารครั้งละประมาณ 18-40 กิโลกรัม โดยจะเริ่มกินที่สะโพกก่อนเสมอ หากเหยื่อไม่ถูกขโมยไปเสียก่อน มันจะหวนกลับมากินทุกวันอีกเป็นเวลา 3-6 วันจนกว่าซากจะหมดหรือเกือบหมด
เสือโคร่งชอบใช้เล็บข่วนตามต้นไม้ให้เป็ นรอย เพื่อประกาศอาณาเขต และเป็นการบริหารเล็บให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ การประกาศอาณาเขตของตัวเองอีกวิธีหนึ่งคือ การปล่อยปัสสาวะไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่นพุ่มไม้ โคนไม้ หรือก้อนหิน กลิ่นของปัสสาวะยังสามารถระบุตัวเสือโคร่งได้ด้วย
เสือโคร่งไม่กลัวน้ำ ซ้ำยังชอบน้ำมาก ในช่วงกลางวันของฤดูร้อนมันมักลงไปนอนแช่น้ำในทะเลสาบหรือบึง
เสือโคร่งอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่หลายประเภท ขอเพียงแต่ให้มีความรกทึบพอให้เป็นที่หลบภัยและซุ่มซ่อนได้ มีเหยื่อขนาดใหญ่ให้ล่า และมีแหล่งน้ำตลอดปี
เสือโคร่งผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในราวปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนเมษายน ตั้งท้องนานประมาณ 93-111 วัน ลูกเสือโคร่งเมื่อแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 760-1,600 กรัม ลืมตาได้เมื่อมีอายุ 6-14 วัน หย่านมเมื่ออายุได้ประมาณ 3-6 เดือน เมื่ออายุได้ 11-12 เดือนก็พร้อมที่จะออกล่าเหยื่อพร้อมกับแม่ได้ แม่เสือจะปล่อยลูกให้หากินด้วยตัวเองเมื่อลูกเสืออายุได้ 18-24 เดือน
ไซเตสบรรจุชื่อเสือโคร่งบัญชีหมายเลข 1 ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพประชากรไว้ว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ