-
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Spizaetus cirrhatus -
ลักษณะทั่วไป : เหยี่ยวต่างสีเป็นเหยี่ยวค่อนข้างใหญ่ ขนาดลำตัว 56 – 75 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน มีชนิดสีเข้มหรือดำ และสีอ่อน ชนิดสีอ่อนมีสีน้ำตาลเข้มตอนบนของตัว ตอนล่างมีสีขาว และมีลายเป็นทางเล็ก ๆ สั้น ๆ สีน้ำตาลตามหน้าอกและท้อง ขามีขนขึ้นเต็มและมีลายขวางเล็ก ๆ สีน้ำตาล ส่วนชนิดสีเข้มมีสีน้ำตาลไหม้ทั่วทั้งตัว ตลอดถึงขามีขนขึ้นเต็ม หางสั้นกว่าชนิดสีอ่อน การที่เหยี่ยวต่างสีมี 2 ชนิด ก็คล้ายกับพวกเสือดาวที่มีลูกออกมาเป็นสีดำได้ -
ถิ่นอาศัย, อาหาร : เหยี่ยวต่างสีมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย พม่า ไทย ลาว เขมร เวียตนาม ฟิลิปปินส์ อันดามัน ซุนดาส์ สุมาตรา บอร์เนียว สำหรับประเทศไทยมีทั่วทุกภาค แต่พบไม่บ่อยและมีปริมาณไม่มากนัก อาหารได้แก่ หนู นกเล็ก ๆ ค้างคาว งู กิ้งก่า และสัตว์เล็ก ๆ เช่น กระต่าย อีเห็น -
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์ : เหยี่ยวต่างสีชอบอาศัยอยู่ทั้งในป่าดง ดิบ ป่าทึบ ป่าสูง ตลอดจนป่าโปร่งและที่ราบสูง ชอบเกาะตามยอดไม้สูงเพื่อมองหาเหยื่อ ไม่ชอบบินร่อน เมื่อเห็นเหยื่อจะโฉบลงจับทันที พบได้ที่ความสูง 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล เหยี่ยวชนิดนี้ผสมพันธุ์หน้าหนาวและหน้าร้อน ผสมพันธุ์ทั้งในที่ราบและตามป่าเชิงเขาหรือตามป่าภูเขาสูง ทำรังตามต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้น้ำ หรือใกล้หมู่บ้าน ชอบทำรังตรงกิ่งไม้ที่ยื่นออกไปเหนือน้ำหรือลำธารในป่า ทำรังด้วยกิ่งไม้เล็ก ๆ วางขัดสานกันอย่างเป็นระเบียบ จะวางไข่ 1 – 3 ฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ ใช้เวลาฟัก 40 วัน -
สถานภาพปัจจุบัน : เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 -
สถานที่ชม : สวนสัตว์นครราชสีมา, สวนสัตว์เชียงใหม่, สวนสัตว์สงขลา -
ข้อมูลเพิ่มเติม : UNEP-WCMC Species Database