สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ 1. การแยกไข่มาอนุบาล และ 2. การให้พ่อแม่อนุบาล
1. การแยกไข่มาอนุบาล กระทำโดยหลังจากแม่ปลาวางไข่และไข่ได้รับการผสมแล้ว นำแผ่นกระจกที่มีไข่ติดอยู่มาใส่ในตู้อนุบาลที่เตรียมไว้ และมีการเพิ่มอากาศโดยใช้ปั๊มลม (air pump) เบาๆ ตลอดเวลา ความลึกของน้ำไม่เกิน 10 เซนติเมตร ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน 36 ชั่วโมง ลักษณะของลูกปลาในระยะนี้จะเห็นเป็นเส้นด้ายเคลื่อนไหวไปมาแต่ยังไม่เคลื่อนที่จะเกาะติดอยู่บริเวณแผ่นกระจกนั่นเอง ลูกปลาจะมีถุงไข่ (yolk sac) ติดอยู่ในบริเวณด้านท้อง ในระยะนี้ลูกปลาจะยังไม่ต้องกินอาหาร ถุงไข่นี้จะยุบภายใน
2-3 วัน จากนั้นลูกปลาจะเริ่มเคลื่อนโดยมักจะลอยตัวขึ้นมาในบริเวณผิวน้ำและรวมกลุ่มกันอยู่อย่างหนาแน่น เมื่อลูกปลามีอายุได้ 5 วันขึ้นไป จะให้อาหารโดยใช้ไข่แดงต้มสุกบดละเอียดผสมกับน้ำเล็กน้อยหยดไปในบริเวณกลุ่มของลูกปลา ควรระวังในการให้อาหารโดยอย่าให้มากจนลูกปลากินไม่หมดจะทำให้น้ำเสียง่ายและเป็นบ่อเกิดของโรค ไม่ควรให้ไข่แดงเกิน 7 วัน เพราะจะทำให้ปลาท้องอืดตายได้ นักเพาะปลาเทวดาบางคนจึงข้ามขั้นตอนการให้ไข่แดงไปเป็นการให้ลูกของไรแดง โดยการใช้กระชอนตาถี่ที่สามารถช้อนไรแดงตัวใหญ่ออกไปและเหลือไรแดงตัวเล็กที่สามารถเป็นอาหารของลูกปลาได้ แล้วจึงนำมาให้ลูกปลาเป็นอาหาร ในระยะนี้ควรระวังเรื่องความสะอาดของน้ำ ควรหมั่นเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือในช่วงเช้าและเย็นและควรให้อาหารอย่างสม่ำเสมอวันละ 4-5 ครั้ง จะทำให้ปลาเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เมื่อลูกปลาอายุได้ 10 วันขึ้นไปจะสามารถว่ายน้ำได้อย่างอิสระและคล่องตัวแต่ยังจะรวมฝูงกันอยู่ ในระยะนี้ลูกปลาจะมีรูปร่างกลมคล้ายรูปไข่ กระโดงหลังครีบอกและครีบก้นยังไม่ยาวออกมา ลูกปลานี้จะเจริญเติบโตเหมือนพ่อแม่
เมื่ออายุประมาณ 45 วัน การอนุบาลด้วยวิธีนี้มีผลดีคือ พ่อแม่ปลาไม่ต้องดูแลลูกปลาทำให้พ่อแม่ปลาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากวางไข่ และสามารถวางไข่ในครั้งต่อไปได้ในเวลา 7-10 วัน ทำให้สามารถเพาะปลาได้เป็นจำนวนสูง และยังป้องกันพ่อแม่ปลาบางตัวที่มีอุปนิสัยในการกินไข่ ข้อเสียของวิธีนี้คือ ถ้าน้ำไม่สะอาดเพียงพอในช่วงอนุบาลอาจจะเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น อาหารเน่าเสีย และของเสียที่เกิดจาก
ตัวปลา เป็นต้น
2. การให้พ่อแม่อนุบาล ปลาเทวดาจัดเป็นปลาประเภทที่ดูแลและเลี้ยงลูกทั้งตัวผู้และตัวเมีย การอนุบาลอีกวิธีหนึ่งก็คือการปล่อยให้พ่อแม่ปลาอนุบาลเอง พ่อแม่ปลาจะอมลูกปลาที่ตกอยู่ในบริเวณพื้นพ่นขึ้นไว้ในบริเวณแผ่นกระจก เพื่อให้ลูกปลาได้รับออกซิเจนและน้ำสะอาด นอกจากนี้พ่อแม่ปลายังพยายามย้ายลูกปลาทั้งหมด เพื่อหลบเลี่ยงการถูกรบกวน ดังนั้นตู้อนุบาลปลานี้ไม่ควรจะมีกรวด ทราย รองพื้นตู้เพราะจะทำให้พ่อแม่ปลาเก็บลูกปลาจากพื้นได้ยาก อาหารในระยะเวลาแรกของลูกปลาเหล่านี้ก็คือเมือกของพ่อแม่ปลา
การอนุบาลด้วยวิธีนี้มีผลดีคือ จะทำให้ลูกปลาแข็งแรง เพราะมีพ่อแม่ปลาคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาตั้งแต่การกัดเปลือกไข่ให้ฉีกขาดเพื่อให้ลูกปลาฟักออกมาการเคลื่อนย้ายลูกปลาเพื่อให้ได้รับออกซิเจนหรือน้ำสะอาด