“ปลากัด” ปัจจุบันได้รับความนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เนื่องจากเพศผู้
นั้นจะมีสีสันสดใสสวยงาม รวมทั้งยังมีครีบหูยาวและใหญ่กว่าเพศเมีย จากลักษณะนี้จึงมีการใช้
ต่อสู้กันเพื่อเป็นเกมกีฬาและการพนัน จึงทำให้เพศผู้เป็นที่นิยมในการเลี้ยงมากกว่า
แต่จากการศึกษาพบว่าอัตราส่วนเพศผู้และเพศเมียที่
ได้จากการเพาะพันธุ์เป็น 1 ต่อ 1 ดังนั้น ผู้เลี้ยงปลาชนิดนี้เพื่อ
การจำหน่าย จึงต้องศึกษาเทคนิคในการเพาะพันธุ์ที่เหมาะสม
และลดต้นทุน เพื่อให้ได้เพศที่ตรงกับความต้องการของตลาด
การใช้ฮอร์โมนในการแปลงเพศปลาหรือในการผลิต
ปลาเพศใดเพศหนึ่ง กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก แต่
วิธีการนี้ก็ยังมีข้อจำกัดการอยู่มากทั้งในด้านราคาและวิธีใช้
เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นความรู้ทางด้านการใช้
ฮอร์โมนน้อยอยู่ ดังนั้น อาจได้ “ปลากัด” ที่ไม่ตรงกับ
ความต้องการ ต้องสั่งซื้อฮอร์โมนมาจากต่างประเทศ ทำให้เกิด
การเสียดุลการค้า
คณะวิทยาศาสตร์การประมง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลตรัง โดย “อุไรวรรณ วัฒนกุล”
จึงทำ “โครงการศึกษาสารสกัดจากใบมังคุดต่อการเปลี่ยนลักษณะเพศในปลากัด” ขึ้น และได้ผล
ออกมาน่าสนใจยิ่ง
การวิจัยในครั้งนี้ได้มีการนำ “ใบมังคุด” ทั้งสดและแห้ง มาทำการทดลองในแต่ละความ
เข้มข้นว่ามีผลต่อการเปลี่ยนลักษณะเพศหรือสัดส่วนเพศมากน้อยแค่ไหน โดยนำมาสกัดเป็นน้ำชา
เพื่อเลี้ยง “ปลากัด” ตั้งแต่แรกเกิดจนสามารถแยกเพศได้ เพื่อเป็นแนวทางในการนำฮอร์โมนจาก
ธรรมชาติมาใช้ทดแทน หากได้ผลก็จะเป็นประโยชน์ในการนำมาเปลี่ยนเพศปลาหรือทำหมันปลา
เพื่อลดกิจกรรมการสืบพันธุ์และส่งผลต่อการเพิ่มอัตราเจริญเติบโต ตลอดจนสามารถนำไปใช้
ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามได้
สำหรับวิธีการศึกษานั้นแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน
ได้แก่ การเตรียมสารสกัดจาก “ใบมังคุดแห้ง” ด้วยการ
ทดลองเลี้ยงปลาพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์เพศและ
พร้อมที่จะผสมพันธุ์ ในอัตราส่วนน้ำเปล่าต่อน้ำสกัดจาก
“ใบมังคุด” เท่ากับ 1 ต่อ 1 จนเมื่อลูกปลามีอายุได้ 3-4 วัน
จึงให้ไข่แดงต้มสุกเป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3-5
วัน หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นให้ไรแดงและลูกน้ำจนกระทั่ง
ปลาโต รวมทั้งการเก็บข้อมูลและเปรียบเทียบความ
แตกต่างของอัตราส่วนเพศ ด้วยวิธี “Chi-Square test”
ทั้งนี้ เมื่อเลี้ยง “ปลากัด” ด้วยน้ำหมักจาก “ใบมังคุดสด” ที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ กัน
เป็นเวลา 30 วัน พบว่า สารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 25 กรัม มีผลต่อการเปลี่ยนลักษณะเพศปลา
มากที่สุด นั่นคือ เพศผู้ คิดเป็น 76.79% ในขณะที่เพศเมีย คิดเป็น 23.21% เท่านั้น ส่วนสารสกัดที่
ระดับความเข้มข้น 70 กรัม จะมีผลต่อการเปลี่ยนลักษณะปลาเป็นเพศเมีย คิดเป็น 76.81% ในขณะ
ที่เพศผู้ คิดเป็น 23.19% เท่านั้น สำหรับสารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 50 กรัม ไม่มีความแตกต่าง
ระหว่างสัดส่วนเพศ แต่ถ้าใช้สารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 100 กรัม ก็จะทำให้ “ปลากัด” ไม่
สามารถทนได้และเสียชีวิตไปทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเลี้ยงปลาด้วยน้ำหมักจาก “ใบมังคุดแห้ง” กลับไม่พบว่ามีผลต่ออัตรา
การเปลี่ยนเพศและสัดส่วนเพศให้เป็นเพศผู้ไม่ว่าจะมีสารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 0 กรัม 25 กรัม
50 กรัม 70 กรัม หรือ 100 กรัม โดยเฉพาะปลาที่เลี้ยงด้วยสารที่ระดับความเข้มข้น 25 กรัมนั้น
พบว่า การเปลี่ยนเพศมีความแตกต่างกันน้อยมากคือ เพศผู้ 42.08% และเพศเมีย 57.92% ดังนั้น
ปลาที่เลี้ยงด้วยสารสกัด “ใบมังคุดแห้ง” ทุกชุดการทดลองจะมีอัตราส่วนเพศเมียสูงกว่าเพศผู้ และ
ไม่สามารถแปลงให้เป็นเพศผู้ได้
โดย “อุไรวรรณ วัฒนกุล” มีข้อเสนอแนะอันสืบเนื่องมาจากงานวิจัยว่า ควรจะมีการทดลอง
ระดับความเข้มข้นของสารสกัดไม่ให้เกิน 25 กรัม เพื่อหาระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมต่อการ
เปลี่ยนเพศ รวมทั้งควรทำการศึกษาการใช้ “ใบมังคุด” ในการแปลงเพศปลาเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่
ต้องการเพศเมียเป็นหลัก และควรจะมีการศึกษาทดลองหมัก “ปลากัด” ตั้งแต่ยังเป็นพ่อแม่พันธุ์
เพื่อดูถึงประสิทธิภาพในการที่จะเปลี่ยนเพศ
ผลของโครงการในครั้งนี้สรุปได้ชัดเจนว่า สารสกัด “ใบมังคุดสด” ที่ระดับความเข้มข้น 25
กรัมนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนลักษณะ “ปลากัด” ให้เป็นเพศผู้มากที่สุด ถือเป็นข่าวดีสำหรับทั้งผู้ขาย
และผู้เลี้ยงที่จะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้สวยงามและตรงกับความต้องการ แม้จะเป็นการใช้
เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ที่อาจจะดูแปลกๆ กันไปบ้างก็ตามที