ปูทะเลนับเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นที่นิยมบริโภคโดยทั่วไป เนื่องจากมีรสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนะการสูง
ผลผลิตปูทะเลส่วนใหญ่ได้จากการจับปูในธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะมีปริมาณลดลงไปทุกที เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งแม้ว่า ในปัจจุบันจะมีการนำปูทะเลที่ไม่ได้ทั้งขนาดและคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ เช่น ปูโพรก ปูไข่อ่อน และปูเล็กมาขุนเลี้ยงต่อบ้างแล้วก็ตาม แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ทั้งที่ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของประเทศไทยนั้น มีปูทะเลอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ซึ่งแสดงว่าชายฝั่งทะเลของเรามีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อการเพาะเลี้ยงปูทะเลได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นการเผยแพร่ความรู้พื้นฐานทางด้านชีววิทยา และเทคนิคการเลี้ยงปูทะเล อันจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรในด้านการพัฒนาวิธีเพราะเลี้ยงให้ได้ผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์พันธุ์ปูทะเลให้คงอยู่ต่อไป

วิธีการเลี้ยงปูทะเลที่นิยมทำกันมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่
1. เลี้ยงโดยวิธีขุน

วิธีขุนปู หรือการขุนปูทะเล หมายถึงการนำปูที่มีขนาดตั้งแต่ 1-4 ตัว/กก. ขณะที่ยังเป็นปูโพรก (ปูที่เนื้อไม่แน่นยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเนื้อมาก) และปูเพศเมียที่มีไข่อ่อนมาขุนเลี้ยงเป็นระยะเวลาประมาณ 20-30 วัน ก็จะได้ปูเนื้อแน่นและปูไข่แก่ ซึ่งเป็นที่ต้องการบริโภคตลาด โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

ก.การเลือกทำเล
หลักในการพิจารณาการเลือกทำเลขุนปูทะเล มีดังนี้
(1) อยู่ใกล้แหล่งน้ำกร่อย (ความเค็ม 10-30 pptใ)
(2) เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเล โดยที่น้ำไม่ท่วมบ่อขณะเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูงสุด และสามารถระบายน้ำได้แห้ง เมื่อน้ำลงต่ำสุด
(3) มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการคมนาคมสะดวก
(4) สภาพดินเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย สามารถเก็บกักน้ำได้ดี
(5) เป็นแหล่งที่สามารถจัดหาพันธุ์ปูทะเลได้สะดวก
(6) เป็นบริเวณที่ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ และมลภาวะ

ข. การสร้างบ่อ บ่อที่นิยมเลี้ยงปูทะเลโดยทั่วไปเป็นบ่อดิน ซึ่งมีหลักการสร้างบ่อ ดังนี
(1) ควรมีพื้นที่ประมาณ 200-600 ตารางเมตร
(2) ขุดร่องรอบบ่อลึกประมาณ 80 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เมตร (เพื่อความสะดวกในการจับปู) ความลึกของบ่อประมาณ 1.5-1.8 เมตร
(3) ประตูน้ำมีประตูเดียว (ทำเหมือนประตูนากุ้ง) (ภาพที่ 4) หรือฝังท่อเอสลอนเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว ท่อเดียวโดยใช้ฝาเปิด, ปิดก็ได้ ซึ่งใช้เป็นทางระบายน้ำเข้า-ออก ทางเดียวกัน
(4) บริเวณคันบ่อและประตูน้ำใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก อวนมุ้งเขียว หรือแผ่นกระเบื้องปักกั้นโดยรอบ เพื่อป้องกันการหลบหนีของปู โดยสูงจากขอบบ่อและประตูประมาณ 0.5 เมตร (ภาพที่ 5)
(5) ใช้ตระแกรงไม้ไผ่ ขนาดกว้างของซีกไม้ 1-1.5 นิ้ว ห่างกันไม่เกินซี่ละ 1 เซนติเมตร กั้นตรงประตูระบายน้ำ (ภาพที่ 6)

ค. การเตรียมบ่อและการจัดการบ่อ
(1) ถ้าเป็นบ่อใหม่ควรทำความสะอาดบริเวณรอบบ่อ กำจัดวัชพืช ลอกเลนก้นบ่อถมรอยรั่วตามคันบ่อ แล้วโรยปูนขาวในบริเวณประมาณ 60 กก./ไร่ ให้ทั่วพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรค
(2) กักเก็บน้ำในบ่อ ลึกประมาณ 1 เมตร
(3) ถ่ายเปลี่ยนน้ำทุกวันที่สามารถกระทำได้ (ในปริมาณ 3/4 หรือแห้งบ่อ)

ง.การรวบรวมพันธุ์
ผู้เลี้ยงจะซื้อพันธุ์จากแพค้าสัตว์ซึ่งรับซื้อปูมาจากชาวประมง โดยที่ปูเหล่านี้ถูกชาวประมงจับมาด้วยเครื่องมือหลายชนิด เช่น อวนลอยปู แร้วปู ลอบปู หน่วงปู ตะขอเกี่ยวปู โดยที่ปูโพรกจะมีขนาดประมาณ 1-4 ตัว/กก. และปูไข่อ่อนมีขนาดประมาณ 1-3 ตัว/กก. ซึ่งในการพิจารณาเลือกปูนั้น ควรจะเป็นปูที่มีระยางค์สมบูรณ์อย่างน้อยมีก้าม 1 ก้าม เนื่องจากปูที่ไม่มีก้าม ถึงแม้จะมีไข่แก่ก็มีราคาต่ำ

จ. การปล่อย และการจัดการด้านอาหาร
การปล่อยปูลงขุนในบ่อ โดยทั่วไปนิยมปล่อยปูด้วยอัตราความหนาแน่นประมาณ 2-3 ตัว/ตรม. โดยก่อนที่จะปล่อยปูลงในบ่อเลี้ยงจะใช้น้ำในบ่อรดตัวปูให้ชุ่ม เพื่อให้ปูปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อ จากนั้นจึงตัดเชือกมัดปูออกปล่อยให้ปูคลานในบ่อ
ขณะเลี้ยงมีการดูแลและเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ซึ่งบ่อเลี้ยงปูจะสร้างในที่ที่สามารถเปิดให้น้ำทะเลไหลเข้าออกได้โดยตรงในขณะน้ำขึ้น และในการระบายน้ำจะระบายในช่วงน้ำลงจนเกือบแห้งบ่อเหลือประมาณ 10 เซนติเมตร (เพื่อให้ปูฝังตัวหลบความร้อนและศัตรูได้) ระดับน้ำในบ่อมีความลึกประมาณ 1 เมตรตลอดระยะเวลาเลี้ยง ผู้เลี้ยงจะต้องหมั่นดูแลแนวรั้วกั้นรอบบ่อและตะแกรงประตูน้ำให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการหลบหนีของปู
การให้อาหารนั้น จะให้อาหารสดวันละครั้งในตอนเย็น หรือหลังกักเก็บน้ำเต็มบ่อโดยสาดให้ทั่วบ่อ หรือสาดใส่ในถาดอาหารที่วางไว้รอบบ่อ ซึ่งอาหารที่นิยมเลี้ยงปูมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ปลาเป็ด และหอยกะพง โดยต้องรู้จักหลักการจัดการเรื่องอาหารดังนี้
(1) ปลาเป็ด หาซื้อได้จากแพปลา ซึ่งเป็นปลาเบญจพรรณสด นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1-2 นิ้ว อัตราการให้ประมาณ 7-10% ของน้ำหนักปู หรือโดยเฉลี่ยจะให้ปลาเป็ด 1 ชิ้น ต่อปู 1 ตัว สำหรับปลาเป็ดสามารถเก็บไว้เผื่อวันต่อไปได้ โดยหมักเกลือเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดเช่น ถังพลาสติก โอ่ง เป็นต้น โดยใช้เกลือประมาณ 10% ของน้ำหนักปลาเป็ด
(2) หอยกะพง หาซื้อได้จากชาวประมง โดยจะให้หอยกะพงประมาณ 40% ของน้ำหนักปู แต่ทั้งนี้ควรจะทำความสะอาดก่นอนำมาให้เป็นอาหารปู
สำหรับการขุนเลี้ยงปูโพรก ให้กลายเป็นปูเนื้อแน่น และปูไข่แก่นั้นใช้ระยะเวลาประมาณ 25-35 วัน

ฉ. การเก็บเกี่ยวผลผลิต
เมื่อขุนปูทะเลจนได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการแล้ว ผู้เลี้ยงจะทำการจับปูทะเลโดยมีวิธี่การจับดังนี้
(1) การตักปูเล่นน้ำ วันที่จับปูทะเลเป็นวันที่ระดับน้ำทะเลขึ้น-ลงสูง เพราะสามารถระบายน้ำได้หมดบ่อและสะดวกต่อการจับ ผู้เลี้ยงจะระบายน้ำจนแห้งบ่อ แล้วเปิดน้ำเข้าในช่วงน้ำขึ้น ปูจะมารับน้ำใหม่บริเวณตระแกรงหน้าประตูน้ำ จากนั้นใช้สวิงด้ามยาว (ภาพที่ 7) ตักปูขึ้นมาพักในถัง แล้วจึงใช้เชือกมัด (ภาพที่ 8) วิธีนี้เป็นการจับปูในวันแรก ๆ ของการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อลดปริมาณปูในบ่อ แม้ว่าวิธีการนี้จะไม่สามารถจับปูได้หมดบ่อแต่จะลดความเสียหายจากการบอบช้ำของปูได้เป็นอย่างดี

(2) การจับน้ำแห้ง หรือคราดปู โดยการระบายน้ำให้หมดบ่อแล้วใช้คนลงไปคราดปูด้วยคราดเหล็ก (ภาพที่ 9) แล้วลำเลียงปูขึ้นจากบ่อด้วยสวิงด้ามสั้น (ภาพที่ 10) เพื่อมาพักจากนั้นจึงล้างให้สะอาดก่อนการมัด

(3) การเกี่ยวปูในรู (ต่อเนื่องจากการใช้คราดปู) เมื่อคราดปูบริเวณพื้นลานบ่อหมดแล้วจะเหลือปูในรู ต้องใช้ตะขอเกี่ยวปูใส่สวิงแล้วจึงนำไปมัดด้วยเชือก
ผลผลิตที่ได้จากการขุนปูทะเลจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประมาณ โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลเอาใจใส่ ทั้งในเรื่องการให้อาหาร คุณภาพน้ำ และสภาพบ่อ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปจะให้ผลผลิตประมาณ 80-95%

2. การเลี้ยงโดยวิธีอนุบาลลูกปู

การเลี้ยงโดยวิธีอนุบาลลูปปูทะเล หมายถึง การนำปูขนาดเล็กที่มีน้ำหนักน้อย คือ ขนาดประมาณ 6-10 ตัว/กก. มาเลี้ยงในระยะเวลาตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปจนได้ปูขนาดใหญ่ (โดยการลอกคราบ) และมีเนื้อแน่นหรือปูไข่ก็ตามที่ตลาดต้องการ
ปัจจุบันการเลี้ยงปูทะเลโดยวิธีนี้ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานกว่า ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังเอาใจใส่ในการดูแลมาก โดยเฉพาะระยะที่ปูลอกคราบแต่ละครั้งจะมีการกินกันเอง อีกทั้งได้รับผลตอบแทนช้า ซึ่งย่อมส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามได้มีรายงานการเลี้ยงปูทะเลโดยวิธีอนุบาลจากลูกปูขนาดเล็กของนักวิชาการประมง ซึ่งทำการทดลองไว้ในปี 2532 โดยได้นำปูทะเลขนาด 7-10 ตัว/กก. ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดินขนาด 638 ตารางเมตร ด้วยอัตราความหนาแน่น 1.7 ตัว/ตารางเมตร ให้ปลาเป็ดเป็นอาหารวันละ 2 มือ ๆ ละ 5% ของน้ำหนักตัว ใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 77 วัน ได้ผลผลิต (น้ำหนักที่จับคืนได้) ประมาณร้อยละ 55.28 ปูที่จับคืนได้มีขนาดความกว้างประดองและน้ำหนักเฉลี่ยในแต่ละตัวเพิ่มขึ้น 2.2 เซนติเมตร, 98.89 กรัม ในปูเพศเมีย และ 1.7 เซนติเมตร 138.449 กรัม ในปูเพศผู้ ซึ่งจากรายงานการทดลองนี้ได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ โดยได้กำไรสุทธิเป็นเงิน 2,594 บาท
ผลทดลองเลี้ยงปูทะเล (ปูดำ) จากจังหวัดระนอง โดยนำปูตัวละ 50-155 กรัม มาปล่อยลงเลี้ยงในบ่อพื้นที่ 638 ตารางเมตร และ 800 ตารางเมตร โดยมีอัตราปล่อย 0.6 และ 0.8 ตัว ต่อตารางเมตร ตามลำดับ ให้หอยกะพงในปริมาณ 40% ของน้ำหนักตัว วันละครั้งในตอนเย็น ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 2 เดือน อัตราการจับคืน (จำนวนตัว) ร้อยละ 57.63 ได้ผลกำไร 547 บาท
การเลี้ยงปูทะเลยังมีลู่ทางที่น่าจะทำรายได้ หรือผลตอบแทนสูง หากมีการพัฒนาการเลี้ยง และเอาใจใส่อูแลให้มากขึ้น เนื่องจากปูเป็นสัตว์น้ำที่ปล่อยลงเลี้ยงได้อย่างต่อเนื่อง โดยเราสามารถคัดขนาดปูที่ต้องการขึ้นมาจำหน่ายได้ตลอดเวลาด้วย วิธีการจับปูเล่นน้ำ ซึ่งจากผลการทดลองดังกล่าวได้ขอเสนอแนะไว้ดังนี้คือ
1. ควรนำปูทะเลที่มีขนาดน้ำหนักตัวมากกว่า 120 กรัม หรือในระยะคราบที่ 15-16 ในตารางที่ 1 เนื่องจากเมื่อลอกคราบแล้วจะได้ปูตามขนาดที่ตลาดต้องการในเวลาที่ไม่มากนัก คือ ประมาณ 2 เดือน
2. ควรควบคุมปริมาณ และวิธีการให้อาหารที่เหมาะสม โดยนำอาหารใส่ในภาชนะรองรับที่วางกระจายไว้รอบบ่อ เพื่อป้องกันเศษอาหารที่เหลือเน่าเปื่อยหมักหมมก้นบ่อ อันจะเป็นสาเหตุให้ก้นบ่อเน่าเสีย เนื่องจากปูมักจะฝังตัวตามพื้นก้นบ่อ และนอกจากนี้ ควรตรวจสอบปริมาณอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของปู โดยเพิ่มความถี่ในการให้อาหารให้มากขึ้น หรือลดปริมาณอาหารในช่วงที่มีการลอกคราบ เป็นต้น
3. หมั่นตรวจสอบการเจริญเติบโตอยู่เสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อคัดปูที่ได้คุณภาพตามต้องการขึ้นจำหน่าย และปล่อยปูลงเลี้ยงต่อไปได้อีกอย่างต่อเนื่อง
4. ศึกษาคุณภาพน้ำ และสภาพบ่อให้ดีอยู่เสมอ