การเปรียบเทียบการดื้อยาของเชื้อ Acinetobacter spp. ในฟาร์มเลี้ยงปลา/หมู ปลา/เป็ด ปลา/ไก่ไข่ ปลา/ไก่เนื้อแบบผสมผสานและฟาร์มเลี้ยงปลาตะเพียนพบว่ามีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรกลุ่มที่ทำการวิจัยใช้ยาต้านจุลชีพที่แตกต่างกัน โดยยาต้านจุลชีพที่ใช้ในฟาร์มเลี้ยงปลา/หมูแบบผสมผสาน ได้แก่ แอมอกซิซิลิน เอ็นโรฟลอกซาซิน นอร์ฟลอกซาซิน ออกซีเตตราซัยคลิน ซัลฟาเมทอกซาโซล และคลอแรมเฟนิคอล ส่วนยาต้านจุลชีพที่ใช้ในฟาร์มเลี้ยงปลา/เป็ดแบบผสมผสาน ได้แก่ แอมอกซิซิลิน คลอเตตราซัยคลิน ออกซีเตตราซัยคลิน ซัลฟาเมทอกซาโซล และคลอแรมเฟนิคอล ในขณะที่ยาต้านจุลชีพที่ใช้ในฟาร์มเลี้ยงปลา/ไก่เนื้อแบบผสมผสาน ได้แก่ เอ็นโรฟลอกซาซิน คลอเตตราซัยคลิน ซัลฟาเมทอกซาโซล และคลอแรมเฟนิคอล และยาต้านจุลชีพที่ใช้ในฟาร์มเลี้ยงปลา/ไข่ไก่แบบผสมผสาน ได้แก่ คลอเตตราซัยคลิน ออกซีเตตราซัยคลิน ซัลฟาเมทอกซาโซล และคลอแรมเฟนิคอล นอกจากนี้ความแตกต่างของการดื้อยาขึ้นอยู่กับจำนวนของสัตว์ที่เลี้ยง ชนิดของสัตว์ อายุของสัตว์ อายุของฟาร์ม แบคทีเรีย Acinetobacter spp. ทุกสายพันธุ์ที่แยกได้จากงานวิจัยนี้ แสดงความไวต่อยาต้านจุลชีพเจนตามัยซิน และดื้อต่อยาในกลุ่มออกซีเตตราซัยคลิน ซัลฟาเมทอกซาโซล คลอแรมเฟนิคอลแอมอกซิซิลิน และนอร์ฟลอกซาซิน ตามลำดับ ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลการเลี้ยงสัตว์และปลาของเกษตรกร พบว่าการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียมีความสัมพันธ์กับการใช้ยาในฟาร์ม ผลการวิจัยพบว่าฟาร์มที่สุ่มสำรวจ ไม่มีฟาร์มใดใช้ยาเจนตามัยซิน เกษตรกรนิยมใช้ยาออกซีเตตราซัยคลินมากที่สุด และมีการใช้ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน ยาที่เกษตรกรนิยมใช้รองลงมาคือ ซัลฟาเมทอกซาโซล และคลอแรมเฟนิคอล ตามลำดับ มีข้อควรสังเกตุว่าคลอแรมเฟนิคอลยังเป็นยาที่เกษตรกรสามารถหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาดและนิยมใช้กันมาก ทั้งๆที่ทราบกันว่ายาตัวนี้มีผลทำให้เกิดโรคโลหิตจางชนิด aplastic anemia นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่าแบคทีเรีย Acinetobacter spp. แสดงการดื้อยามากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป รวมทั้งพบว่ามีการดื้อต่อยา 4 และ 5 ชนิดด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรใช้ยาต้านจุลชีพในการเลี้ยงสัตว์มากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป และมีการใช้ยาเป็นปริมาณมาก และใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงเกิดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียขึ้น การดื้อยาสามารถถ่ายทอดจากจากแบคทีเรียตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่งได้ทางพันธุกรรมโดยวิธี Conjugation, Transduction และ Transformation การใช้ยาในการเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดการดื้อยาของแบคทีเรียในสิ่งแวด ล้อม การเลี้ยงปลาแบบผสมผสานร่วมกับสัตว์บกจึงควรตระหนักถึงปัญหานี้เนื่องจากอาจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปลาโดยตรง คือ ปลาที่เลี้ยงร่วมกับสัตว์บกอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา ทำให้ไม่สามารถรักษาได้ เนื่องจากแบคทีเรียดื้อต่อยา ก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การใช้ยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์มีผลต่อมนุษย์ทั้งทางตรง โดยมนุษย์ได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ และทางอ้อมโดยการถ่ายทอดยีนที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพของแบคทีเรียที่อยู่ใน สิ่งแวดล้อมสู่เชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และเมื่อมนุษย์ได้รับเชื้อนั้นจะทำให้การรักษาโรคทำได้ยากขึ้น ฉะนั้นการใช้ยาในการเพาะเลี้ยงสัตว์จึงควรมีความระมัดระวังในการใช้ โดยใช้ยาเท่าที่จำเป็น และควรศึกษาการใช้ยาให้ดีก่อนการเลือกใช้ยาในการป้องกันและรักษาโรค นอกจากนี้ควรมีการศึกษาถึงสารปฏิชีวนะที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์จะสะสมในปลา หรือสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ หรือมีการสะสมในห่วงโซ่อาหารหรือไม่ต่อไป