เรียบเรียงโดย ตุลฮาบ หวังสุข
ปัจจุบันการเลี้ยงปลาสวยงามมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์ต่างๆทันสมัย และการจัดการง่ายขึ้น แม้การเลี้ยงปลาสวยงามจะดูเป็นเรื่องง่าย แต่ผู้เลี้ยงหลายรายที่ประสบปัญหาเรื่องปลาเกิดโรค และปลาตาย ถึงกับเลิกเลี้ยงไปบ้างก็มี ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายประการที่ต้องคำนึง
ผู้ เลี้ยงต้องทราบหรือเข้าใจเพื่อป้องกันความผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น ศึกษาหาความรู้ หมั่นสังเกตลักษณะอาการของปลาอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ลดการสูญเสียหรือปัญหาไปได้ ส่วนปลาสวยงามมีหลายชนิด เช่นปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อยและปลาทะเล สำหรับมือใหม่ขอแนะนำว่าเป็นปลาน้ำจืด และเริ่มต้นด้วยปลาที่เลี้ยงง่ายๆ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาบอลลูน หรือกลุ่มปลาทอง
การเลือกชนิดปลาที่เลี้ยง จะต้องเลือกปลาให้ถูกต้อง จึงทำให้ได้ปลาสวยงามที่ต้องการ และไม่เป็นภาระยุ่งยากจนเกินไป การเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยง ย่อมขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคล เนื่องจากปลาสวยงามในปัจจุบัน มีหลากหลาย สิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจ คือ ความเป็นอยู่ และลักษณะของการเลี้ยง โดยทั่วไป มีแต่การให้อาหารปลา การถ่ายเทน้ำ หรือเปลี่ยนน้ำ ปลามีลักษณะอาการสดชื่นเป็นปกติ น้ำใสสะอาด เนื่องจากมีระบบการเพิ่มอากาศ(ออกซิเจน)และมีการกรองน้ำด้วยระบบต่างๆ ซึ่งผู้เลี้ยงได้รับการแนะนำ หรือศึกษามา ดูเหมือนว่าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับปลาที่เลี้ยง แต่ถ้าผู้เลี้ยงปล่อยปละละเลย ไม่ทำความสะอาดระบบกรอง จะพบว่าปลาที่เลี้ยงมีการเจริญเติบโตช้า ขนาดตัวยังเท่าเดิม สีสันไม่สดใส ซีดลงอย่างเห็นได้ชัด จนถึงระยะหนึ่งปลาจะมีอาการผิดปกติ เกิดการติดเชื้อ และตายไปในที่สุด ดังนั้นหากผู้เลี้ยงได้พยายามศึกษาทำความเข้าใจ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ปลาสวยงามที่เลี้ยงมีความสมบูรณ์ สวยงาม หรือประสบผลสำเร็จในกิจการเลี้ยงได้
ความหลากหลายของสายพันธุ์ ลักษณะของปลาที่เห็นอาจไม่ใช่ลักษณะแท้ของสายพันธุ์ จะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ค่อนข้างมาก มีการคัดลักษณะเด่นของลูกปลาที่ได้นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ หรือผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาจากแหล่งอื่นๆ ทำให้ได้ปลาที่มีรูปทรง สีสัน และลักษณะครีบแตกต่างกันออกไป ผู้เลี้ยงนำปลามาเลี้ยงรวมกัน ผสมพันธุ์พบว่าลูกปลาที่ออกมาจะมีรูปร่างหลายลักษณะ ดังนั้น ควรจะได้ศึกษาว่าปลาชนิดใดหรือกลุ่มใดมีความหลากหลายทางสายพันธุ์อย่างไร
ความ ต้องการของตลาด เลี้ยงปลาสวยงามเพื่อเป็นการค้า จำเป็นต้องศึกษาความต้องการตลาดของปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะตลาดในพื้นที่ว่ามีความต้องการปลาสวยงามชนิดใด ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้ง่าย เช่น ปลากัด ปลาหางนกยูง เป็นปลาที่ตลาดมีความต้องการสูงมากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ
นิสัย ของปลาสวยงาม การเลือกเลี้ยงปลาสวยงามนอกจากจะเลือกที่ความสวยงามแล้ว ยังต้องศึกษานิสัยของปลาให้รอบคอบด้วย เนื่องจากปลาบางชนิดจะมีนิสัยดุร้าย เกเร หากนำไปเลี้ยงปะปนกัน อาจมีปลาบางชนิดที่ถูกทำร้ายหรือถูกจับกินเป็นอาหารได้ หลักการพิจารณานิสัยของปลา การเลือกเลี้ยงปลาสวยงามควรรู้ว่าปลาที่เลี้ยงนั้น ปกติกินอาหารประเภทใดเป็นหลัก ซึ่งจากจำนวนชนิดปลาสวยงามที่มีอยู่มากมายนั้น จะเห็นความแตกต่างของลักษณะอาหารที่ปลาชอบกินได้อย่างเด่นชัด
การ อยู่ร่วมกัน ผู้เลี้ยงปลาสวยงามส่วนใหญ่ มักนิยมเลี้ยงปลาหลากหลายชนิด หลายลักษณะและหลายสีสัน พบว่ามีปลาบางชนิดมีนิสัยเกเร ดุร้าย ทำให้ปลากลุ่มหนึ่งถูกทำลายหรือเกิดการติดเชื้อจนตายได้ การเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงร่วมกัน จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาพิจารณาให้รอบคอบ
ความอดทนของปลา ปลาแต่ละชนิดมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่างกัน ปลาสวยงามที่เลี้ยงไว้ในพื้นที่แคบๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่าง กะทันหัน ย่อมเกิดได้ตลอดเวลา เช่น การให้อาหารมากเกินไปจนเศษอาหารหมักหมมบูดเน่าอยู่ในวัสดุกรอง หรือการเปลี่ยนน้ำใหม่ โดยขาดประสบการณ์ เติมน้ำที่มีคลอรีนสูงมากเกินไป หรือปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้เครื่องให้อากาศและระบบกรองน้ำไม่ทำงาน ปริมาณออกซิเจนลดต่ำลง ปลาได้รับอันตรายมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นกับขนาดและจำนวนปลาที่เลี้ยง ดังนั้นการเลือกชนิดปลาอาจต้องพิจารณาถึงความอดทนของปลาประกอบด้วย
การ ขยายพันธุ์ การแพร่พันธุ์ของปลา ส่วนใหญ่จะออกลูกเป็นไข่ และเป็นการผสมพันธุ์ภายนอกตัวแม่ โดยพ่อแม่พันธุ์ปลาจะปล่อยน้ำเชื้อและไข่ออกมาผสมกันในน้ำ ลักษณะของไข่ปลายังมีรูปแบบแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ผู้ที่เลี้ยงปลาสวยงามเพื่อเป็นการค้า จำเป็นต้องศึกษาวิธีการเพาะและอนุบาลลูกปลาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จ ต้องเลือกปลาที่มีการแพร่พันธุ์อย่างง่ายๆ และลูกปลามีอัตราการรอดดี เนื่องจากกินอาหารได้ง่าย ได้แก่กลุ่มปลาที่ออกลูกเป็นตัว ปลาพวกนี้มีจำนวนชนิดอยู่ไม่มากนัก และส่วนใหญ่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เป็นปลาที่มีจำนวนไข่หรือลูกไม่มาก เมื่อเทียบกับปลาที่ออกลูกเป็นไข่ แต่ปลาพวกนี้มักจะออกลูกได้เกือบตลอดปี
วิธี การเลือกซื้อปลาสวยงาม เมื่อตัดสินใจเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงแล้ว ขั้นตอนสำคัญอันดับต่อไปคือ เลือกซื้อปลาที่ต้องการเลี้ยง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเช่นกัน เพราะหากได้ปลาที่ไม่แข็งแรง ไม่สมบูรณ์ หรือมีเชื้อโรคติด มาเลี้ยงอาจตายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน หรืออาจต้องทนเลี้ยงปลาที่ไม่สมสัดส่วน วิธีการเลือกซื้อปลาควรจะพิจารณาสิ่งต่อไปนี้
1.ควรเลือกซื้อปลาในเวลากลางวัน สังเกตสีสันที่แท้จริงของปลาได้ดี
2.สภาพ ตัวปลา คือเลือกปลาที่ไม่มีร่องรอยความบอบช้ำ เช่นเกล็ดหลุด ครีบแหว่ง หรือมีแผลตามลำตัว เพราะอาจเป็นปลาที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการลำเลียง หรือมีการระบาดของโรคพยาธิเกิดขึ้น
3.ลักษณะการว่ายน้ำหรือการทรงตัวของปลา
4.ลักษณะ การกางของครีบต่างๆ ปลาปกติที่ไม่มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อหรือการเกิดโรค จะกางครีบออกเกือบตลอดเวลา แต่ปลาที่มีอาการผิดปกติ มักจะหุบครีบลู่ติดตัวไม่ค่อยกางออก
5.สีสันของปลา ควรสังเกตเปรียบเทียบปลาในกลุ่มเดียวกัน มีสีสันสดเข้มกว่า ลวดลายเด่นชัด ย่อมมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแกร่งกว่า
6.ความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ ควรเป็นปลาที่มีอวัยวะครบถ้วนตรงตามชนิด ลำตัวโดยเฉพาะคอดหางไม่คดงอ ครีบไม่โค้งพับหรือขาดหายไป
วิธี การเลี้ยงปลาสวยงาม ปลาสวยงามแต่ละชนิดมีความต้องการปัจจัยในการเลี้ยงต่างกัน เช่น ภาชนะสำหรับเลี้ยงปลา สถานที่ ความหนาแน่น การรักษาความสะอาดของภาชนะที่เลี้ยง การถ่ายเปลี่ยนน้ำ การให้อาหาร อุณหภูมิน้ำ แสงสว่าง การเคลื่อนย้าย น้ำใช้เลี้ยงปลา โรคและพยาธิ
การ ดูแลเอาใจใส่ปลาเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันโรคและเป็นการสร้างภูมิ คุ้มกันให้กับปลาได้เป็นอย่างดี ดังนั้นในการดูแลเอาใจใส่ปลาเพื่อทำให้ปลามีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อเราเห็นปลาที่เลี้ยงแล้วว่ายน้ำไปมาอย่างมีความสุข ทำให้ผู้เลี้ยงย่อมมีความสุขไปด้วย