กันทิมาณี พันธุ์วิเชียร1 เต็มดวง สมศิริ2 สุปราณี ชินบุตร2
ธวัชชัย แก้วมาก2 Andreas Petersen3
1 : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2 : สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง
3 : Royal Veterinary and Agriculture University, Denmark

เนื่องจากมีการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มเลี้ยงปลาแบบผสมผสานเพื่อการเร่งการเจริญเติบโต ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียกันอย่างมาก มีผลก่อให้เกิดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียในตัวปลาและแหล่งน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา ดังนั้นจึงศึกษาความสัมพันธ์ของการใช้ยาต้านจุลชีพและการดื้อยาของแบคทีเรีย โดยใช้ Acinetobacter spp. เป็นตัวชี้วัด ดำเนินการแยกเชื้อ Acinetobacter spp. โดยวิธี colony hybridization จากมูลสัตว์ น้ำในบ่อปลา และเหงือกปลาในฟาร์มเลี้ยงปลาแบบผสมผสานกับไก่/เป็ด/หมู และฟาร์มเลี้ยงปลาตะเพียนรวม 7 ฟาร์ม พบว่าสามารถแยกเชื้อ Acinetobacter spp. ได้จำนวน 979 สายพันธุ์ นำเชื้อมาศึกษาความไวต่อยาต้านจุลชีพ 6 ชนิด คือ แอมอกซซิลลิน คลอแรมฟินิคอล นอร์ฟลอกซาซิน เจนตามัยซิน ออกซีเตตราซัยคลิน และซัลฟาเมทอกซาโซล โดยวิธี agar disk diffusion พบว่าเชื้อ Acinetobacter spp. มีเปอร์เซ็นต์การดื้อยาออกซีเตตราซัยคลินสูงที่สุด (49%) รองลงมาคือซัลฟาเมทอกซาโซล (13%) คลอแรมฟินิคอล (25%) และแอมอกซิซิลลิน (11%) ตามลำดับ และมีความไวต่อยาเจนตามัยซินสูงที่สุด (100%) รองลงมาคือนอร์ฟลอกซาซิน (95%) โดยเชื้อที่ดื้อต่อยานอร์ฟลอกซาซินจะแสดงการดื้อยาออกซีเตตราซัยคลินและยาซัลฟาเมทอกซาโซลด้วย
สุ่มเชื้อ Acinetobacter spp. ที่แสดงการดื้อยาชนิดต่าง ๆ ในระดับ clear zone กว้าง จำนวน 60 สายพันธุ์จากทุกฟาร์มมาศึกษาระดับความเข้มข้นที่มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียต่อยาต้านจุลชีพ 3 ชนิดที่มีการใช้มากในฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ คือ นอร์ฟลอกซาซิน โดยวิธี agar plate dilution พบว่าระดับควาเข้มข้นของยา นอร์ฟลอกซาซิน ออกซีเตตราซัยคลิน และซัลฟาเมทอกซาโซล ที่มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียมีค่าตั้งแต่ 0.125-64 0.3125-160 และ 1-1025 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรตามลำดับ จากผลการศึกษาพบว่า เชื้อ Acinetobacterspp. ที่แยกได้จากฟาร์มเลี้ยงปลาแบบผสมผสานมีความสัมพันธ์กันระหว่างการดื้อยาและการใช้ยา

กลับไปสารบัญ

การผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (Monoclonal antibody) ต่ออิมมูโนกอบบูลินเอ็ม (IgM) ของปลาช่อน (Channa striata)
ศุภลัคน์ พุฒิเนาวรัตน์1 Kim Thompson2Alexandra Adams2
1 สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ
2 Instittute of Aquaculture, University of Stirling, Stirling FK9 4LA

ในการศึกษาวิจัยทางภูมิคุ้มกันวิทยาและการพัฒนาวัคซีน probe เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ใช้ตรวจสอบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน โมโนโคลนอลแอนติบอดี้มีคุณสมบัติที่ทำปฏิกิริยาจำเพาะต่อสารหนึ่ง ๆ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น probe ที่ดีในการตรวจสอบ การศึกษาครั้งนี้จึงผลิตโมโนโคนอลแอนติบอดี้ต่ออิมมูโนกอบบูลินเอ็มของปลา ช่อนเพื่อใช้เป็น probe ในการศึกษาระบบภูมิคุ้มกันของปลาช่อนตลอดจนการพัฒนาวัคซีนในอนาคต
ฉีดกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันหนู (balb/c) อายุ 6 เดือนด้วยอิมมูโนกอบบูลินเอ็มทีสกัดมาจากเลือดปลาช่อน ที่ความเข้มข้น 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร จำนวน 100 ไมโครลิตร/ตัว เก็บเลือดเพื่อตรวจไตเตอร์ด้วยเทคนิค Enzyme-liked immunosorbent assay (ELISA) และฉีดซ้ำจนครบตามกำหนด ทำการเก็บเลือดและม้ามของหนูที่มีการตอบสนองดีที่สุด นำเซลม้ามมาผสมกับ myeloma cell SP2/0-Ag14) จนพัฒนาได้ hybridoma cell ในที่สุด เก็บ supernatant เพื่อตรวจสอบปฏิกิริยากับอิมมูโนกอบบูลินเอ็มของปลาช่อนโดยเทคนิค ELISA และ Western Blot ได้โคโลนีที่ให้ผลบวกคือ Mab 7D2 และ Mab IC2 ซึ่งทำปฏิกิริยาต่ออิมมูโนกอบบูลินเอ็มของปลาช่อนที่ตำแหน่งของ Heavy chain และ Light chain ที่น้ำหนักโมเลกุล 68 และ 27 กิโลดาลตันตามลำดับ และมีปฏิกิริยาข้ามต่ออิมมูโนกอบบูลินของปลาชะโด นิล และ ตะเพียนขาว